5784 ครั้ง 16 ตุลาคม 2554
|
|
เภสัชกร ธีระพงษ์ มนต์มธุรพจน์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก หลักสูตรนานาชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานการนำเสนอแบบปากเปล่า (oral presentation) ในการประชุมใหญ่วิชาการประจำปี 2554 ครั้งที่ 37 ของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย (Infectious Disease Association of Thailand (IDAT) ในหัวข้อการวิจัยเรื่อง “A prospective, randomized, double dummy, placebo-controlled trial of oral cefditoren pivoxil 400 mg once daily as switch therapy after intravenous ceftriaxone in acute pyelonephritis: An interim analysis” โดยมีที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์คือ ผศ.ดร.ปรีชา มนทกานติกุล, รศ.นพ.ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ และ ผศ.ดร.ปราโมทย์ ตระกูลเพียรกิจ นอกจากนั้นผลงานวิจัยของ ภก.ธีระพงษ์ ยังได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบบทคัดย่อลงในวารสาร Journal of Infectious Diseases and Antimicrobial Agents ปี พศ. 2554 ฉบับที่ 28(3) หน้า 231-232 ด้วย
การจัดประชุมวิชาการดังกล่าว จัดภายใต้หัวข้อ “Infectious Diseases in the Changing Environment” ระหว่างวันที่ 13 - 16 ตุลาคม 2554 ณ โรงแรม The Zign จังหวัดชลบุรี การนำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้มีผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอมากมายซึ่งประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร นักจุลชีววิทยาและนักวิจัยทั้งจากหน่วยงานของโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย จำนวนผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอแบบปากเปล่าที่ผ่านการกลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้นประมาณ 50 เรื่อง
ภก.ธีระพงษ์ ได้กล่าวถึงประเด็นและความสำคัญของงานวิจัยในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันพบเชื้อในกลุ่ม Enterobacteriaceae เช่น E. coli ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ มีอุบัติการณ์ของการดื้อยาในกลุ่มควิโนโลนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาแห่งประเทศไทยในปี 2554 พบว่าเชื้อ E. coli ดื้อยา ofloxacin สูงขึ้น 57% การวิจัยในครั้งนี้จึงพยายามที่จะหายาในกลุ่มอื่นๆที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนยาในกลุ่มนี้ ยาเซพดิทอเรน ปิโวซิลเป็นยาที่ใหม่ที่สุดในกลุ่ม oral third generation cephalosporin มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาการติดเชื้อในระทางเดินหายใจส่วนต้นและการติดเชื้อที่ผิวหนังแบบไม่ซับซ้อนเท่านั้น จากคุณสมบัติทางเภสัชจลนศาสตร์พบว่ายานี้มีการกำจัดออกทางไตในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงสูงถึง 30% รวมทั้งมีงานวิจัยที่ทำในหลอดทดลองพบว่ายานี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อในกลุ่ม Enterobacteriaceae เช่น E. coli ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามการใช้ยาเซพดิทอเรน ปิโวซิล ในการรักษาโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลันซึ่งมีความรุนแรงสูงกว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะชนิดอื่นยังไม่เคยมีรายงานการทดลองทางคลินิก (RCT) มาก่อน จากเหตุผลดังกล่าว ภก.ธีระพงษ์ จึงมีความประสงค์ที่จะศึกษาทดลองทางคลินิกเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำยานี้ไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เป็น Quinolone-resistant strains หรือการใช้ยาเซพดิทอเรน ปิโวซิลในฐานะที่เป็น Quinolone-sparing agent
การศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกซึ่งเป็นการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มของยาเซพดิทอเรน ปิโวซิลในการรักษาผู้ป่วยโรคกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลอัตราการตอบสนองทางคลินิกและการตอบสนองต่อการกำจัดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคของการใช้ยาฉีดเซพไตรเอโซนแบบต่อเนื่องเทียบกับการเปลี่ยนจากยาฉีดเซพไตรเอโซนเป็นยาเซพดิทอเรน ปิโวซิลชนิดรับประทานในการรักษาโรคกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลันโดยแบ่งการศึกษาออกเป็นทั้งหมดเป็นสองกลุ่ม ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษาเบื้องต้นด้วยยาฉีดเซพไตรเอโซนขนาด 2 กรัมหยดเข้าทางหลอดเลือดดำวันละ 1 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือกรวมทั้งเข้าเกณฑ์ของการเปลี่ยนรูปแบบยาปฏิชีวนะจากชนิดฉีดเป็นชนิดรับประทานแล้วจะถูกสุ่มการรักษาดังนี้ กลุ่มควบคุมให้ยาหลอกชนิดเม็ดโดยรับประทานครั้งละ 4 เม็ดวันละ 1 ครั้งพร้อมอาหารควบคู่กับการฉีดยาเซพไตรเอโซนในขนาดเดิม กลุ่มทดลองให้ยาเซพดิทอเรน ปิโวซิลขนาดเม็ดละ 100 มิลลิกรัมโดยรับประทานครั้งละ 4 เม็ดวันละ 1 ครั้งพร้อมอาหารควบคู่กับยาหลอกชนิดฉีดหยดเข้าทางหลอดเลือดดำวันละ 1 ครั้ง ทำการศึกษาเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 10 วัน
ผลการศึกษาวิจัยของ ภก.ธีระพงษ์ พบว่าการใช้ยาฉีดเซพไตรเอโซนตามด้วยการให้ยาเซพดิทอเรน ปิโวซิลชนิดรับประทานขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวันทดแทนภายหลังจากอาสาสมัครมีอาการของโรคกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลันดีขึ้น มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการให้ยาฉีดเซพไตรเอโซนแบบต่อเนื่องกันจนครบสิบวัน ดังนั้นยาปฏิชีวนะเซพดิทอเรน ปิโวซิลจึงน่าจะสามารถใช้เป็น switch therapy antibiotic ในการรักษาโรคกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลันได้