เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


เภสัชมหิดลเข้าร่วมพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ฯ สปป.ลาว รุ่นที่ 27 ประจำปี ค.ศ. 2025

อ่านแล้ว 76 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568  

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 - 12.00 น. ผู้บริหารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.ศิตาพร ยังคง รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภก.กฤษฎา ศักดิ์ชัยศรี อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา เข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รุ่นที่ 27 ประจำปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมทันตกิจสโมสร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กิจกรรมในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมฯ ประกอบด้วย (1) การกล่าวรายงานความเป็นงานของโครงการฯ โดยผู้แทนโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (2) การกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 27 โดย 1) นายจุลวัจน์ นรินทรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ 2) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 3) นายคำพัน อั่นลาวัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย และ 4) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษางานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (2) การบรรยายเรื่อง “พระราชกรณียกิจสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” โดย พันเอกหญิง รองศาสตราจารย์นันทพร วีรวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ (3) กิจกรรมผู้เข้ารับการฝึกอบรมพบอาจารย์ประจำหลักสูตร

สำหรับหลักสูตรเภสัชศาสตร์นั้น เป็นการฝึกอบรมที่ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ได้มีส่วนร่วมและร่วมจัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปีเช่นกัน โดยในปี 2568 นี้ คณะฯ ได้จัดการปฐมนิเทศการฝึกอบรมหลักสูตรเภสัชศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.ศิตาพร ยังคง รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร และ รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.วิชิต โนสูงเนิน รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.สมหญิง พุ่มทอง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภก.กฤษฎา ศักดิ์ชัยศรี ร่วมให้การต้อนรับเภสัชกรจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 3 ราย ซึ่งเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรเภสัชศาสตร์ 2 (Pharmacy II Program) รายนาม ดังนี้ 

1) นายเต้งลี่ ไซเพ็ง (Mr. Tenglee Xaipheng) สังกัดโรงพยาบาลแขวงไซสมบูน 
2) นายบุนนำ พิมมะสอน (Mr. Bounnam Phimmasone) สังกัดโรงพยาบาลแขวงไซยะบูลี
3) นางวิไลพอน มะไลเพ็ด (Ms. Vilayphone Malaypheth) สังกัดโรงพยาบาลแขวงหลวงพระบาง

โครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1) สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักพระราชวัง 2) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ 3) มหาวิทยาลัยมหิดล โดย 6 ส่วนงาน ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเทคนิคการแพทย์ และ สถาบันโภชนาการ

โดยในปี 2568 นี้ โครงการฝึกอบรมดังกล่าวได้ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2568 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจาก สปป.ลาว รวม 49 คน เข้ารับการฝึกอบรมใน 12 หลักสูตร ณ ส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรค การดูแลผู้ป่วย และการใช้ยา เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขและเพิ่มพูนทักษะกระบวนการทำงานเป็นทีม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนางานการแพทย์และสาธารณสุขให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของสปป.ลาว โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายและฝึกปฏิบัติ การสัมมนากลุ่มย่อย การศึกษาดูงานนอกสถานที่ การพัฒนาและจัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผลงาน และการนำเสนอผลงานทางวิชาการของผู้เข้ารับการฝึกอบรมแต่ละหลักสูตร

นอกจากนี้ การฝึกอบรมดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนพันธกิจของคณะฯ ในการเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัยอีกด้วย เป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ และเป้าหมายที่ 17 คือ เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน





Photo Gallery



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


วิตามินและแร่ธาตุ 46 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้