อ่านแล้ว 586 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2565
เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565 เวลา 10.00-17.00 น. รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เดินทางไปเยือน Hanoi University of Pharmacy เพื่อเข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “Pharmacy Practice Training and Clinical Pharmacy Education” ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของ 3 สถาบันการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ ได้แก่ 1) Hanoi University of Pharmacy ประเทศเวียดนาม ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม 2) College of Pharmacy, University of Illinois Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา และ 3) คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ประเทศไทย กิจกรรมประกอบด้วยการนำเสนอภาพรวมของระบบการจัดการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ (Pharmacy Education) ของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิทยาการ และประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาทางเภสัชศาสตร์และการจัดฝึกประสบการณ์วิชาชีพเภสัชกรรมในระดับเฉพาะทาง โดยมีคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้แทนของทั้ง 3 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องจากทั้ง 3 ประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการจัดการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ของประเทศเวียดนามผ่านความร่วมมือในระดับสากล และในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ ได้ร่วมนำเสนอภาพรวมของระบบการจัดการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ (Pharmacy Education) ของคณะฯ ในการประชุมดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ในการประชุมไตรภาคีในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและผู้แทนของทั้ง 3 สถาบันการศึกษาได้ร่วมกันประชุมหารือเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับนานาชาติอีกด้วย โดยมี Prof. Dr. Nguyen Hai Nam ในนามของผู้บริหารสูงสุดของ Hanoi University of Pharmacy เข้าร่วมประชุมกับ Prof. Dr. Alan Lau ซึ่งเป็นผู้แทนของ College of Pharmacy, University of Illinois Chicago และ รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ ในนามของผู้บริหารคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ซึ่งการประชุมหารือดังกล่าวจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน อีกทั้งยังเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเป็นเลิศทางวิชาการร่วมกัน และผลักดันให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวิชาการร่วมกัน ระหว่าง Hanoi University of Pharmacy ประเทศเวียดนาม University of Illinois Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา และ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ประเทศไทย ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การประชุมยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ และเป้าหมายที่ 17 คือ เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Photo Gallery