อ่านแล้ว 940 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2565
เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2565 เวลา 08.30-16.30 น. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาเภสัชวิทยา จัดประชุมวิชาการ เรื่อง “ความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยาของยาใหม่ ครั้งที่ 20” ผ่านระบบ Zoom Webinar โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วม จำนวน 361 คน
การประชุมครั้งนี้กำหนดจัดเป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2565 โดยคณะฯ ได้รับเกียรติจากคณาจารย์ภายในคณะฯ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นภสัชกร แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขจากโรงพยาบาล บริษัทยา และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในระดับต่างๆ ของประเทศ
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เภสัชกรและแพทย์ได้ทบทวนความรู้ทางเภสัชวิทยาของกลุ่มยาที่ใช้เดิมและเพิ่มพูนความรู้ที่ทันสมัยของยาใหม่ รวมทั้งส่งเสริมให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ในการดูแลและให้คำแนะนําในการใช้ยาแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยได้มีองค์ความรู้ด้านเภสัชวิทยาที่ก้าวหน้า ซึ่งจะนําไปสู่การใช้ยาอย่างเหมาะสม สำหรับเนื้อหาการประชุมครอบคลุมเรื่อง แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รักษาโรคหืด ยาที่ที่ใช้รักษาโรคเลือดไหลไม่หยุด การใช้ monoclonal antibody ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ยาใหม่รักษาโรคหัวใจขาดเลือด ยากลุ่มใหม่ในการรักษาโรคมะเร็ง กลุ่มยาระงับปวด รวมทั้งเภสัชวิทยาที่เภสัชกรควรทราบเกี่ยวกับพืชกระท่อมซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่เพิ่งได้รับการปลดจากสถานะ”ยาเสพติดให้โทษ” ยาใหม่รักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง
นอกจากนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าวยังสนับสนุนพันธกิจของคณะฯ ด้านการเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย และเป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในโอกาสนี้ คณะฯ ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดการประชุม ดังรายนามต่อไปนี้
1. บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด
2. บริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด
3. บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด
4. บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด
5. บริษัท เอ็กเซลทิส (ประเทศไทย) จำกัด
6. บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
7. บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด
Photo Gallery