เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จัดการประชุม 2021 US-Thai Pharmacy Consortium

อ่านแล้ว 1,865 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 07 มิถุนายน 2564  
เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 08.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) ผู้บริหารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. อุษา ฉายเกล็ดแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ ’2021 US-Thai Pharmacy Consortium’ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (ตามเวลาในประเทศไทย (GMT +7)) โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meetings โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ จาก 18 สถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย และ 16 สถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงคณาจารย์และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน เภสัชกรประจำบ้าน และเภสัชกรวิชาชีพได้ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวมากกว่า 400 คน สำหรับกิจกรรมในการประชุมวิชาการนานาชาติดังกล่าว ประกอบด้วย การบรรยายทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี วิทยาการ ความก้าวหน้า และองค์ความรู้ใหม่ด้านเภสัชศาสตร์ศึกษาและด้านเภสัชศาสตร์ในสาขาต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์ของสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ของประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา และในโอกาสนี้ คณาจารย์ของคณะฯ ได้ร่วมเป็นวิทยากรในการบรรยายดังกล่าวด้วย ดังนี้ 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ บรรยายในหัวข้อ ’Pharmacist Immunization in Thailand’ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เวลา 08.00-08.20 น. 2. อาจารย์ ภญ.เจนนิษฐ์ มีนวัฒนา เป็นผู้ดำเนินรายการ (Moderator) ร่วมกับ Prof. Alan Lau จาก the University of Illinois at Chicago ในหัวข้อ ’Immunization by Pharmacists: Experiences from the US and Philippines; Expanding Scope of Practice in Thailand’ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ตั้งแต่เวลา 08.00-10.30 น. ทั้งนี้ การประชุมวิชาการนานาชาติ US-Thai Pharmacy Education Consortium ได้ถูกจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้บันทึกข้อตกลง ’Memorandum of Agreement: U.S. - Thai Consortium for the Development of Pharmacy Education in Thailand” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรด้านเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยกับสถาบันการศึกษาชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย และมีส่วนผลักดันให้เกิดพัฒนาการและความก้าวหน้าด้านการศึกษาเภสัชศาสตร์อย่างต่อเนื่องมาถึง 20 ปี โดยยารประชุมวิชาการนานาชาติ US-Thai Pharmacy Education Consortium ได้ถูกกำหนดให้จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ซึ่งมีการจัดประชุมครั้งล่าสุด คือ ’2018 US-Thai Pharmacy Consortium’ ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ College of Pharmacy, University of Kentucky ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไปทั่วโลก คณะกรรมการฯ จึงได้มีมติเลื่อนการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ US-Thai Pharmacy Education Consortium ในปี 2020 และกำหนดให้จัดการประชุม 2021 US-Thai Pharmacy Consortium ผ่านระบบออนไลน์ในปี 2564 แทน การประชุมวิชาการนานาชาติ ’2021 US-Thai Pharmacy Consortium’ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ศึกษา (Pharmacy Education) และด้านเภสัชศาสตร์ (Pharmacy & Pharmaceutical Sciences) ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพเภสัชกรรม และผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับสากล รวมทั้งเพื่อจุดประกายความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์และวิชาชีพเภสัชกรรมระหว่างคณาจารย์ เภสัชกรวิชาชีพ นักวิชาการ และนักวิจัยทางเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาวิชาชีพ ยกระดับบทบาทของสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านเภสัชศาสตร์ศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์และวิชาชีพเภสัชกรรมในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาชีพทางเภสัชกรรม นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 10 คือ ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ และเป้าหมายที่ 17 คือ เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน




Photo Gallery



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้