Knowledge Article


ผู้ป่วยที่เป็นโรคโควิด-19 (COVID-19) สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์
รองศาสตราจารย์ ภก. ปรีชา มนทกานติกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.thailandmedical.news/uploads/editor/files/COVID-19-Research(16).jpg
134,842 View,
Since 2020-07-17
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


“ผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่”

คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามกันมากคำถามหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันยังมีข้อมูลไม่มากนัก การศึกษาเบื้องต้นในลิงโดยการทำให้ติดเชื้อซ้ำ พบว่า ลิงจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้1



ภาพจาก : https://healthsystemsglobal.org/wp-content/uploads/2020/05/3GPdnboQ.jpeg

สำหรับการศึกษาในมนุษย์ พบรายงานการเกิดการติดเชื้ออีกครั้งจากผู้ป่วยในประเทศจีน โดยพบร้อยละ 14 ของผู้ป่วย ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีการติดเชื้ออีกครั้งมักพบในผู้สูงอายุ มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีโรคประจำตัวหลายชนิด ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่สูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำ หรือผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อซ้ำจากผู้ป่วยคนอื่นในชุมชน2

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเราไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเกิดขึ้นได้เร็วเพียงใดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้น ภายใน 10-14 วันหลังสัมผัสเชื้อ นอกจากนี้ ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้ยาวนานเพียงใด ข้อมูลจากเชื้อตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ภูมิคุ้มกันสามารถลดลงได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น การติดเชื้อซ้ำจึงมีโอกาสเป็นไปได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และจำเป็นจะต้องติดตามกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้เป็นระยะ3

กล่าวโดยสรุป ข้อมูลในปัจจุบันพบรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำได้ร้อยละ 14 จากข้อมูลของประเทศจีน แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเกิดจากการไปรับเชื้อจากผู้ป่วยคนอื่น เกิดจากภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้ต่ำ ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงจึงกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่สูง หรือภูมิคุ้มกันลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยรายงานการติดเชื้อซ้ำพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีโรคประจำตัวหลายชนิด ดังนั้น มาตรการที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ การรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) พบปะกันแบบห่างๆ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หากไม่สะดวกก็ใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือ การไม่นำมือมาสัมผัสบริเวณใบหน้า ดวงตา ปาก จมูก และ การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ยังคงมีความสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ

เอกสารอ้างอิง
  1. Ota, M. Will we see protection or reinfection in COVID-19?. Nat Rev Immunol. 2020;20:351. https://doi.org/10.1038/s41577-020-0316-3.
  2. Liu ZL, Huiguo KL. Analysis of the causes of "relapse" of patients with new coronavirus pneumonia after discharge and treatment strategies. Chinese Journal of Tuberculosis and Respiratory Diseases, 2020,43: Online pre-publishing. DOI: 10.3760/cma.j.cn112147-20200229-00219.
  3. Kellam P, Barclay W. The dynamics of humoral immune responses following SARS-CoV-2 infection and the potential for reinfection. [published online ahead of print, 2020 May 20]. J Gen Virol. 2020;10.1099/jgv.0.001439. doi:10.1099/jgv.0.001439.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.