Knowledge Article


ยาแก้ปวดข้อ ใช้รักษาข้อเสื่อม ใช้อย่างไร?


รองศาสตราจารย์ ดร. ภ.ญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
175,290 View,
Since 2010-12-20
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


อาการปวดข้อเป็นอาการของโรคข้อซึ่งมีอยู่หลายชนิด แต่โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้อที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อใหญ่ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวมากหรือข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า  โรคนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่บุปลายกระดูกข้อ เป็นเหตุให้ผิวของกระดูกอ่อนเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมัน กลายเป็นผิวขรุขระ เป็นผลให้การเคลื่อนไหวของข้อมีการติดขัดและเสียไป การเสื่อมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา ไม่มีทางกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพียงการใช้ยาแก้ปวด และปรับพฤติกรรมเพื่อชะลอการเสื่อมของข้อ

ยาแก้ปวดที่ใช้ได้แก่ แอสไพริน พาราเซตามอล และยากลุ่มที่มีฤทธิ์แก้ปวดแก้อักเสบซึ่งเรียกว่าเป็นกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแนค (diclofenac), เซเลคอกซิบ (celecoxib) ยาเหล่านี้ต้องรับประทานหลังอาหารทันที เพราะยามีฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหาร และอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น  โอมีพราโซล (omeprazole), แพนโตพราโซล (pantoprazole), ราบีพราโซล (rabeprazole) ร่วมไปด้วยเพื่อเป็นการป้องกันฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหารที่ไม่พึงประสงค์ ยาที่ใช้ป้องกันนี้ต้องกลืนทั้งเม็ดขณะท้องว่าง นั่นคือต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 30นาที ถึง 1 ชั่วโมง และรับประทานยาแก้ปวดแก้อักเสบหลังอาหารทันที

ปัจจุบันมียาที่มีฤทธิ์คล้ายเป็นอาหารสำหรับกระดูกอ่อน คือ กลูโคซามีน (glucosamine) ยานี้มีทั้งที่เป็นผงละลายน้ำก่อนดื่ม และที่เป็นแคปซูล ต้องรับประทานยานี้ตอนท้องว่าง และเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 ปีจึงจะเห็นผล คือจะมีอาการปวดข้อน้อยลง ผู้ที่แพ้อาหารทะเลต้องระวังการใช้กลูโคซามีนเพราะอาจเกิดอาการแพ้กลูโคซามีนได้

นอกจากยาแก้ปวดแล้ว ผู้ป่วยควรลดน้ำหนัก เพราะการมีน้ำหนักมากเกิน ข้อจะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และมีผลทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ การนั่งท่ายอง การคุกเข่า การวิ่งจ๊อกกิ้ง การยกของหนัก อย่างไรก็ตามควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายที่ทำได้คือ การว่ายน้ำ การถีบจักรยาน การยกหรือขยับข้อเข่าหรือข้อสะโพกเป็นเวลา 20-30 นาทีทุกวัน

 

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.