ไทย |
เนื่องจากตาเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย และเป็นอวัยวะที่ไวต่อความรู้สึก อย่างคำที่ว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ดังนั้นการถนอมดวงตาให้อยู่ในสภาพดีและใช้งานได้นานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และกระทู้ข่าวใน internetออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการสูญเสียความสามารถในการมองเห็น ตาบอด หรือบางครั้งถึงกับสูญเสียดวงตาจากการใช้ยาหยอดตา ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากใช้ยาหยอดตาที่ไม่ผ่านมาตรฐานรับรองจากอ.ย.
ดวงตาเป็นเนื้อเยื่อที่บอบบางมากและติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นยาเตรียมทุกประเภทที่ต้องสัมผัสกับนัยน์ตาโดยตรงจึงต้องปราศจากเชื้อโรค แบคทีเรีย และเชื้อรา โดยปกติแล้วยาหยอดตาควรมีค่าความเป็นกรดด่างหรือค่าพี เอช (pH)7.4 และมีค่า Tonicity ใกล้เคียงกับน้ำตาเพื่อให้เวลาหยอดตาแล้วไม่รู้สึกระคายเคืองต่อหากไม่สามารถกำหนด pH ดังกล่าวได้ อาจเตรียมยาหยอดตาให้มีค่า pH อยู่ระหว่าง 5.5 –7.6 ซึ่งเป็นระดับที่สามารถถูกบัพเฟอร์โดยน้ำตาให้อยู่ใน pH 7.4 ได้ ดังนั้นในการผลิตจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ผลิตยาตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อให้ยาปราศจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ สิ่งแปลกปลอมต่างๆ และมีค่าความเป็นกรดด่าง และ tonicity ให้ตรงตามเกณฑ์มาตรฐาน
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันของการใช้ยาหยอดตาคือ “อายุการใช้งาน” หลายต่อหลายครั้งที่พบว่าปัญหาการติดเชื้อที่ตา เกิดจากการใช้ยาหยอดตาที่หมดอายุ หรือยาหยอดตาที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์หลังจากการเปิดใช้ สำหรับยาหยอดตาที่ไม่เคยเปิดใช้ สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานเท่าที่มีระบุวันหมดอายุไว้ข้างขวด หรือให้ใช้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิตในกรณีที่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุไว้ข้างขวด โดยทั่วไปยาหยอดตาชนิดขวดจะมีการเติมสารป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (preservative)ซึ่งจะมีฤทธิ์เต็มที่ภายในหนึ่งเดือนหลังจากเปิดใช้งานครั้งแรก จากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมประสิทธิภาพลงทีละน้อย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาหยอดตาเกิน 1 เดือน หลังการเปิดใช้ครั้งแรก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับดวงตาได้ สำหรับยาหยอดตาบางประเภทที่ไม่มีการผสมสารป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ส่วนมากจะมีอายุการใช้งาน 1 วันหลังจากการเปิดใช้ ดังนั้นเมื่อใช้ครบ 24 ชั่วโมงแล้วใช้ไม่หมด ส่วนที่เหลือควรจะต้องทิ้งไป
เอกสารอ้างอิง:
1. The United States Pharmacopeia/ The National Formulary (USP32/NF27), United States Pharmacopeial Convention, Inc., 2009.