คำไว้อาลัย

จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ "ครูประดิษฐ์"
   

โดย อาจารย์ สักก์สีห์ (ธนา) คุณวิภูศิลกุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์

1132  Views  

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ที่ผมเคารพนับถืออย่างสูง

 

เมื่อผมมาทำงานเป็นอาจารย์ ที่ คณะเภสัช มหาวิทยาลัยมหิดล คนรับผมเข้าทำงาน คือ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ที่ผมแทบไม่เคยคุยกับท่านเลย สมัยที่ผมเป็นนักศึกษาอยู่จนเพื่อน ๆ ล้อผมว่า เพราะ อาจารย์ ไม่เคยรู้จักนายนั่นแหละ ถึงได้รับนายไว้ทำงาน เพราะถ้าอาจารย์รู้สันดานของนาย คงไม่เอาตัวนายไว้ทำงานด้วยแน่ๆ

 

แต่พอผมเข้าทำงานแล้ว ผมก็ได้รู้อย่างรวดเร็วทันใจว่า ท่านอาจารย์ มีความสามารถ เยี่ยมยอด ที่รู้ว่า จะดูแลผมที่ไม่ค่อยมีระเบียบได้อย่างไร

 

ไม่นานผมก็รู้ว่า ท่านอาจารย์ ประดิษฐ์ ไม่ใช่คณบดีหรอก แต่ท่านคือ หัวหน้าครอบครัวอันทรงเกียรติ ชื่อ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะท่านดูแลสมาชิกทุกภาควิชาแบบหัวหน้าครอบครัวดูแลคนในครอบครัว ให้ความรัก ความห่วงใย ความเอาใจใส่ อบรมสั่งสอนเมื่อจำเป็น ไม่เคยวางอำนาจแแบบผู้บังคับบัญชา เลย

 

ท่านอาจารย์ นอบน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่น และ สมถะ ติดดิน ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่ตั้งใจทำให้คณะเภสัชศาสตร์ รุ่งเรือง และคนในคณะ มีความสุขตามอัตภาพ พร้อมและตั้งใจดูแลให้ทุก ๆ คนมีความสุขด้วยการยึดถือ พรหมวิหารสี่ เป็นแนวทางแห่งชีวิต (ตามที่ท่านบอกผมเมื่อพวกเรามีโอกาสคุยกัน)

 

ท่านอาจารย์ น่าจะไม่ใช่ข้าราชการ เพราะมาทำงานก่อนเวลาราชการ และกลับบ้านน่าจะเลย 20.00 น. แทบทุกคืน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในที่ทำงานอย่างรวดเร็ว เพราะท่านรู้เรื่องด้วยตนเองทั้งสิ้น จากการที่ท่านสามารถคุยกับทุกคนได้ นับตั้งแต่ อาจารย์ นักศึกษา พนักงานในสำนักงาน คนงาน ไปถึงยาม รวมแม่ค้าทั้งหลายด้วย

วันเสาร์วันอาทิตย์ ท่านก็ไปที่คณะบ่อยๆ

 

เมื่อผมเป็นอาจารย์ปีแรก นักศึกษา ก็เพิ่งมี 50 คน และเป็นรุ่นน้องของผมแค่สองชั้นปี ผมจึงคุยกับนักศึกษา แบบรุ่นพี่คุยกับรุ่นน้องได้ง่ายมาก ๆ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ก็เลยให้ผมคอยดูแลสารทุกข์สุกดิบของนักศึกษาไปด้วย เพราะนักศึกษาบางคนอาจจะสบายใจจะปรับทุกข์ กับรุ่นพี่อย่างผม และผมก็เลยทำหน้าที่นั้นตลอดมา ทำให้ผมรู้ว่า ท่านอาจารย์ ให้ความสนใจ ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ทั้งหลายเป็นอันดับแรก ๆ เลย  ควบคู่กับการพัฒนาสถานที่ศึกษา ให้น่าเรียน มากขึ้น

ท่านอาจารย์ ใช้กิจกรรมตั้งแต่นั้นมา โดยเริ่มด้วยทำบุญตึก นิมนต์พระสงฆ์ สวดชัยมงคลเพื่อให้บรรดาอาจารย์และนักศึกษา ได้ทำบุญร่วมกัน เป็นอันดับแรกเลย จากนั้นก็มีการแข่งขันกีฬา (แชร์บอล ปิงปอง) ระหว่างอาจารย์สตรี กับ นักศึกษาหญิง (เพราะอาจารย์ชายมีไม่กี่คน) แต่ต่อมา อาจารย์ชาย ก็แข่ง ปิงปอง แบดมินตัน กับนักศึกษาได้ บรรยากาศการแข่งขันกีฬา ครั้งนี้ ดีมาก ๆ และต่อมาก็พัฒนาปลูกต้นไม้ด้วยกัน เพี่อให้คณะร่มรื่นมากขึ้น

แข่งกีฬา (ปิงปอง) ทีโถงหน้าของอาคาร 2

 

            

                          อาจารย์ร่วมกันปลูกต้นไม้ หน้าอาคาร 2 เพิ่มความร่มรื่นให้กับคณะเภสัชมหิดล 

 

กิจกรรมเหล่านี้ช่วยทำให้ อาจารย์และนักศึกษาทั้งหลายรู้จักกัน เข้าใจกันมากขึ้น และสนิทสนมกันอย่างยิ่ง

 

ในด้านวิชาการ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ สนับสนุนทุกภาควิชา แต่เพราะผมอยู่ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ผมถึงรู้ว่า ท่านอาจารย์ให้ความสนใจต่อ สมุนไพร อย่างยิ่ง

เริ่มจากให้มีสวนสมุนไพร อยู่บนดาดฟ้าตึกด้านหลัง (ตึกด้านหลังคือ อาคาร 3) เพราะยังไม่มีที่ให้ปลูกต้นสมุนไพรได้  ปีต่อมาจึงสามารถมีสวนสมุนไพรบนดินด้านหลังตึกได้สำเร็จ

อาคาร 3

 

ไม่ใช่แค่ให้มีสวนสมุนไพร ท่านอาจารย์ยังสนับสนุนให้มีการพานักศึกษาไปเก็บตัวอย่างสมุนไพรที่ต่างจังหวัดอีกด้วย โดยชวนเชิญอาจารย์ภาควิชาอื่น ๆ ไปร่วมด้วย และเพราะเหตุนี้ ผมกล้าบอกได้ว่า นักศึกษา เภสัชมหิดล  มีความเชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรไม่ด้อยกว่า มหาวิทยาลัย อื่น ๆ ในเมืองไทย 

ไม่ใช่แคนั้น ต่อมา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังสามารถมีสวนสมุนไพร “สิรีรุกขชาติ” ที่ ศาลายา รวมถึงมีศูนย์ข้อมูลสมุนไพรที่สามารถ บริการข้อมูลความรู้ด้านสมุนไพรให้แก่ประชาชนผู้สนใจได้อีกด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ให้ความสำคัญต่อ สมุนไพร และสนับสนุนสมุนไพรมาโดยตลอด นั่นเอง

เวลานี้สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ คือ ผลงานน่าภาคภูมิใจของชาวเภสัชมหิดลและของชาวมหิดลโดยรวมด้วย (ปัจจุบัน คือ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ)

 

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ไม่เคยปิดกั้น สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของนักศึกษาเลย ทำให้นักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีส่วนเกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญของไทย นั่นคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะประธานสโมสรนักศึกษาของคณะเภสัชฯ มหิดล คือ รองประธานศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนนท.)  ก่อนเกิดเหตุการณ์นั้น กรรมการ ศนนท. ขอใช้ห้องประชุมของคณะเภสัชฯ มหิดล ก็ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ (รายละเอียดของเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย ขอกล่าวแค่นี้ แค่เพื่อให้รู้ว่าท่านอาจารย์ประดิษฐ์ไม่เคยปิดกั้นความคิดของนักศึกษาเท่านั้น)

ที่อยากกล่าวถึง คือ ท่านอาจารย์ จะเปิดโอกาสให้นักศึกษา เปิดใจคุยกันได้ เพื่อไม่ให้มีเรื่องน่าเสียใจเกิดขึ้น

ทั้งหมดเพราะหลักสูตรการเรียนเภสัชศาสตร์ เข้มงวดอย่างยิ่ง  ทำให้ นักศึกษาและอาจารย์บางท่านไม่เข้าใจกัน

จนมีผลให้นักศึกษาหัวเสียจนอยากเดินขบวนประท้วงอาจารย์บางท่าน

โชคดี ผมได้ข่าวจากนักศึกษา บางคนก่อน ผมจึงรีบไปคุยกับพวกเขาก่อนที่จะพาพวกเดินขบวน

 

ไม่ง่ายที่จะทำให้นักศึกษาเปลี่ยนใจ ไปคุยกับท่านอาจารย์ประดิษฐ์ ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก นักศึกษาไม่เขื่อว่า ท่านอาจารย์จะยอมคุยกับนักศึกษา  ประการที่สอง นักศึกษาเชื่อว่าคุยได้ ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะคณบดีคงเข้าข้าง

อาจารย์มากกว่า

ผมจึงเสนอว่า ท่านอาจารย์ประดิษฐ์จะเต็มใจพบกับนักศึกษาอย่างแน่นอน หลักประกัน คือ ถ้าท่านอาจารย์ไม่ยอมให้นักศึกษาเข้าพบ ผมจะลาออกมาเป็นหัวหน้านำเดินขบวนเองเลย นักศึกษาเลยยอมเชื่อผม แล้วการพบปะระหว่างอาจารย์ประดิษฐ์ กับนักศึกษาก็เกิดขึ้นได้สำเร็จ ส่งผลให้นักศึกษาพอใจ ไม่มีการเดินขบวนใดๆ (น่าเสียใจที่ไม่นานต่อมา อีกที่หนึ่ง มีการเดินขบวนขับไล่ คณบดี)

กล่าวมาทั้งหมดเพื่อให้รู้ว่า ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ อยู่ข้างลูกศิษย์ของท่านเสมอ

 

ท่านอาจารย์ ไม่เพียงดูแลลูกศิษย์ด้วยเมตตาธรรม กับลูกน้องใต้บังคับบัญาในคณะ ท่านก็ใช้เมตตาธรรมนำหน้าเสมอ

ใครทำผิดท่านเลือกที่จะเรียกไปตักเตือนโดยส่วนตัวก่อน ไม่ให้คนทำผิดต้องอับอายผู้ร่วมงาน และถ้าใครทำถูกต้องแล้ว ท่านจะปกป้องคุ้มครองอย่างแน่นอน 

ด้วยเหตุนี้เอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในคณะเภสัชฯ ท่านจะรู้ความจริงเสมอ ไม่เข้าข้างคนทำผิดอย่างเด็ดขาด

 

ความคับแคบ ของโรงอาหาร เคยทำให้แม่ค้าแทบจะตีกันตาย แต่ด้วยความสามารถของท่านอาจารย์ประดิษฐ์ ศึกแม่ค้าจบลงอย่างรวดเร็วยิ่ง ผมไม่รู้รายละเอียดมากนัก รู้แค่ว่าเรื่องจบทันทีที่ท่านอาจารย์ไปจัดการ

 

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ไม่ใช่แค่ ดูแลคณะเภสัชได้อย่างเยี่ยมยอด นอกคณะ ในระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลและบุคลากรระดับแนวหน้าของมหาวิทยาลัยมหิดล ต่างยอมรับความรู้ความดีงามของท่าน แต่ลูกศิษย์ทั้งหลายอาจจะไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องนอกคณะเภสัชศาสตร์ มากนัก เพราะท่านอาจารย์เป็นคนถ่อมตนไม่โอ้อวดตนเองให้ใครฟัง

 

ผมเองก็ไม่ค่อยรู้ว่า ในระดับมหาวิทยาลัย คนมีความเห็นอย่างไร จนผมกลายเป็นหลานเขยของ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิง ตระหนักจิต หะรินสุต อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว และผมเคยเรียน ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิง ท่านนี้ว่า ผมเคารพนับถือ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ มาก จึงได้รู้จาก คุณป้าหมอท่านนี้ว่า “ธนา เธอโชคดีที่มีโอกาสทำงานอยู่กับอาจารย์ประดิษฐ์ เพราะอาจารย์ผู้นี้นอกจากมีความรู้ความสามารถดีแล้ว ยังเป็นคนนิสัยดีมาก ถ่อมตน และมีความจริงใจ น่าคบหามากๆ” 

ตั้งแต่่ผมเป็นหลานเขยคุณหญิงหมอท่านนี้ เพิ่งเคยได้ยินคุณหญิงกล่าวชมเชยคนให้ผมฟังแบบนี้

 

พอท่านอาจารย์ประดิษฐ์ไม่ได้เป็นคณบดีแล้ว ผมก็ห่างท่านไปโดยปริยาย จนเมื่อท่านป่วยหนักจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล. ผมจึงไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาล โดยมีคนที่รู้ว่า ผมสนิทกับท่านมาก ขอให้ผมช่วยพูดให้ท่านเลิกบุหรี่  ผมพบท่านไม่ทันขอร้องอะไรเรื่องบุหรี่ ท่านพูดก่อนว่า “ธนา ทั้งชีวิต ผมมีแค่บุหรี่ ที่ทำให้ผมสบายคลายเครียด คงเข้าใจนะ”

ผมได้แต่ตอบว่า “ครับ อาจารย์ ผมเข้าใจครับ” ผมเข้าใจจริง ๆ เหมือนที่อาจารย์เข้าใจผม นั่นแหละ

 

ผมเข้าใจแล้วจริง ๆ ครับ และ ใช้แนวทางเดินตามอาจารย์ อยู่ครับ คือ สมถะ ยึดถือพรหมวิหาร 4 อย่างอาจารย์ ครับ

 

ขอบคุณผู้ให้โอกาสผมเขียนถึงท่านอาจารย์ประดิษฐ์ที่ผมเคารพนับถืออย่างสูงมาโดยตลอดครับ

บทความอื่นๆ จากศิษย์เก่า

จำได้ว่าปอง (รศ.ดร.ภญ.จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์) ชวนไปพบท่านที่ห้อง ท่านต้อนรับลูกศิษย์อย่างเป็นกันเองเหมือนคนในครอบครัว และบอกว่าประตูห้องเปิดเสมอ ฟังวิสัยทัศน์ท่านแล้ว เป็นหลักการที่เกินกว่าเภสัชฯ หากเป...

ภญ.ธนูทิพย์ กรรณสูต รุ่นที่ 11

ข้อมูลเฉพาะรุ่น 1ปี 1 (พ.ศ.2512) เข้ามาจำนวน 150 คนอยู่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ แผนกเตรียมเภสัชศาสตร์ พอขึ้นปี 2 มีลาออกไปสอบเอนทรานซ์ใหม่ประมาณ 5 คน พอขึ้นปี 3 (พ.ศ. 2514) สมัครมาคณะเภสัชศาสตร์ พญ...

ปราโมทย์ ชลยุทธ์ รุ่นที่ 1

อาจาริยบูชาจากลูกศิษย์                               อา...

กลอนรำลึกถึงครู รุ่นที่ 11

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา