หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กินTranxamine 250 mg เพื่อรักษาฝ้า สามารถกินติดต่อกันได้นานแค่ไหนครับถึงจะไม่อันตราย แล้วต้องมีช่วงหยุดนานเท่าไหร่เหรอครับ แล้วกลไกการออกฤทธิ์ในการรักษาฝ้าเป็นอย่างไรครับ

ถามโดย คุณอั๋น เผยแพร่ตั้งแต่ 08/01/2011-12:38:03 -- 71,146 views
 

คำตอบ

Tranexamic acid เป็นยาที่มีคุณสมบัติทำให้เลือดแข็งตัว ข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรองคือใช้ในการรักษา และป้องกันภาวะเลือดออกในผู้ป่วยเลือดไหลหยุดยาก (ฮีโมฟีเลีย) โดยการให้ยาจะให้ใช้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น ส่วนการใช้ยาในการรักษาฝ้านั้นเนื่องมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้สร้างเม็ดสีเมลานิน จึงทำให้ฝ้าจางลงได้ อย่างไรก็ตามข้อบ่งใช้ดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรอง รวมถึงยังไม่มีรายงานความปลอดภัยของยาเมื่อใช้เป็นระยะเวลานานด้วย อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญจากการใช้ยาคือการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยสามารถเกิดได้ทั้งหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำ (arterial and venous thrombosis) แม้ว่าผู้ป่วยจะยังไม่มีโรคประจำตัว หรือสภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันแต่อย่างใด ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้อาจมีผลต่อการมองเห็น และการเกิดอาการข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร โดยอาการที่พบบ่อยคือคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย จากข้อมูลดังกล่าวจึงไม่แนะนำการใช้ tranexamic acid ในการรักษาฝ้าเป็นระยะเวลานาน จากการศึกษา tranexamic acid ในการรักษาฝ้าส่วนใหญ่พบเฉพาะการทดลองในสัตว์ ส่วนการศึกษาในมนุษย์นั้นก็พบเฉพาะในรูปแบบยาใช้ภายนอก หรือบางการศึกษาเป็นการใช้ยา tranexamic acid ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบการรักษาในรูป tranexamic acid เดี่ยวๆ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าประสิทธิภาพของ tranexamic acid ในการรักษาฝ้ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้นจึงแนะนำว่าผู้ที่จะใช้ยา tranexamic acid ควรหาทางเลือกอื่นในการใช้เพื่อรักษาฝ้า โดยอาจปรึกษาร่วมกับแพทย์ รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อลดการเกิดฝ้า เช่น การเลี่ยงจากแสงแดด และการทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอค่ะ

Reference:
1. Tranexamic acid. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Sep 20. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Jan 28].
2. Weber NR, Novak KK, Lenzini SW et.al., Drug facts and comparisons 59th ed., Wolters Kluwer Health, 2009.

Keywords:
-





ผิวหนังและเครื่องสำอาง

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้