วัคซีนโควิด-19 ตอนที่ 3 : การพัฒนาสู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
16,324 ครั้ง เมื่อ 3 นาทีที่แล้ว | |
2021-02-03 |
โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) และปัจจุบันการระบาดของโรคนี้ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากการหายใจล้มเหลวและอาการแทรกซ้อนอื่น การคิดค้นยาเพื่อใช้กำจัดไวรัสที่เป็นต้นเหตุและการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ออกใช้แล้วหลายผลิตภัณฑ์ วัคซีนเหล่านั้นให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อซึ่งหลายคนไม่ชอบเนื่องจากทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีดและไม่สะดวก ในบทความนี้จะกล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา โดยทำเป็นวัคซีนชนิดฉีดแบบไร้เข็ม วัคซีนชนิดให้ทางจมูก วัคซีนชนิดกิน วัคซีนชนิดสูดทางปาก และวัคซีนชนิดแผ่นติดผิวหนัง
ภาพจาก : https://www.businesscloud.co.uk/wp-content/uploads/2020/10/Pharmajet.jpg
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีนและรูปแบบการให้วัคซีน
วัคซีน (vaccine) เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่จำเพาะขึ้นมาเพื่อต่อต้านเชื้อโรค จึงใช้ป้องกันโรค องค์ประกอบในวัคซีนมีความแตกต่างกันทำให้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้แตกต่างกัน วัคซีนอาจประกอบด้วยตัวเชื้อก่อโรคครบ (กรณีแบคทีเรียหมายถึงครบทั้งเซลล์ ส่วนไวรัสหมายถึงครบทั้งอนุภาค) หรือมีเฉพาะชิ้นส่วนจากเชื้อก่อโรคซึ่งชิ้นส่วนนั้นสามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ หรือประกอบด้วยสิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาด้วยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งสิ่งนั้นสามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ วัคซีนจึงมีทั้งชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) ซึ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีแต่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้, วัคซีนเชื้อตาย (inactivated หรือ killed vaccine) ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ, วัคซีนซับยูนิต (subunit vaccine) ซึ่งใช้เฉพาะชิ้นส่วนของเชื้อก่อโรคที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ในกรณีวัคซีนโควิด-19 เป็นสไปก์โปรตีน (spike protein) ของเชื้อก่อโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2), วัคซีนซึ่งสิ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพที่หลากหลาย ก่อให้เกิดวัคซีนชนิดต่าง ๆ มากมายในลักษณะของวัคซีนลูกผสม (recombinant vaccines) เป็นต้น
การให้วัคซีนเข้าสู่ร่างกายส่วนใหญ่ทำโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular injection) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) ในปริมาณน้อย แต่วัคซีนบางชนิดอาจให้โดยการฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal injection) หยอดเข้าปาก พ่นจมูก หรือให้โดยวิธีอื่น ๆ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นนั้นมีความสามารถในการจดจำและพร้อมที่จะออกปฏิบัติการเมื่อร่างกายได้รับเชื้อก่อโรคชนิดที่เกี่ยวข้องกับการนำมาทำวัคซีนชนิดนั้น
ข้อจำกัดของวัคซีนโควิด-19 ชนิดฉีดผ่านเข็มฉีดยา
วัคซีนโควิด-19 ที่นำมาใช้แล้วขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์ (full authorization) หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน (emergency use authorization) นั้นเป็นชนิดฉีดผ่านเข็มฉีดยา โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น โทซินาเมแรน (tozinameran ชื่ออื่นคือ BNT162b2 และชื่อการค้าคือ Comirnaty) ที่รู้จักในชื่อว่า “Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine”, เอ็มอาร์เอ็นเอ-1273 (mRNA-1273) ที่รู้จักในชื่อว่า “Moderna COVID-19 vaccine”, เอแซดดี-1222 (AZD1222 ชื่ออื่นคือ ChAdOx1 nCoV-19) ที่รู้จักในชื่อว่า “Oxford-AstraZeneca vaccine”, BBIBP-CorV ที่รู้จักในชื่อว่า “Sinopharm COVID-19 vaccine”, CoronaVac ที่รู้จักในชื่อว่า “Sinovac vaccine” วัคซีนที่กล่าวมานี้จะฉีด 2 ครั้ง การฉีดกระตุ้นในครั้งที่สองจะห่างจากครั้งแรก 3-12 สัปดาห์ ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ การฉีดวัคซีนผ่านเข็มทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีดซึ่งหลายคนไม่ชอบหรือมีความกลัวเข็มฉีดยา ยิ่งต้องมีการฉีดกระตุ้นในครั้งที่สองจะเพิ่มความไม่สะดวกที่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลอีก ทำให้บางคนมารับวัคซีนในครั้งที่สองไม่ตรงตามกำหนดหรือไม่มาเลย การฉีดวัคซีนผ่านเข็มฉีดยายังเสี่ยงต่อการติดเชื้อขณะฉีดและการเกิดอุบัติเหตุจากเข็มฉีดยา นอกจากนี้การเร่งรีบพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้การพัฒนาตำรับมีข้อจำกัด อาจมีความคงตัวไม่ดีจึงต้องแช่แข็ง จึงเกิดความยุ่งยากในการขนส่งและเสียค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งบางหน่วยงานขาดความพร้อมในการจัดเก็บวัคซีน
การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา
วัคซีนโควิด-19 ที่นำมาใช้แล้วขณะนี้เป็นชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อผ่านเข็มฉีดยาซึ่งทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด อีกทั้งยังมีข้อจำกัดบางอย่างดังกล่าวข้างต้น จึงมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา เช่น วัคซีนชนิดฉีดแบบไร้เข็ม วัคซีนชนิดให้ทางจมูก วัคซีนชนิดกิน วัคซีนชนิดสูดทางปาก วัคซีนชนิดแผ่นติดผิวหนัง ซึ่งวิธีการให้วัคซีนเหล่านี้ไม่ทำให้เจ็บ จึงคาดว่าจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในผู้ที่กลัวเข็มฉีดยาโดยเฉพาะเด็ก การให้วัคซีนในรูปแบบที่กล่าวมา (ยกเว้นชนิดฉีดแบบไร้เข็ม) สามารถเรียนรู้และให้วัคซีนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยบุคลากรสาธารณสุข จึงเพิ่มความสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาล ช่วยให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนครั้งที่สองเป็นไปได้มากขึ้น ทำให้โครงการป้องกันโรคระบาดประสบความสำเร็จสูง ในการให้วัคซีนรูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยาอาจนำมาใช้โดยสมบูรณ์ คือให้ครั้งแรกและให้ครั้งที่สองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (กรณีที่ต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งขึ้นกับวัคซีนแต่ละชนิด) หรือนำมาใช้เฉพาะการให้ครั้งที่สองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีนครั้งแรกโดยการฉีดผ่านเข็มฉีดยามาแล้ว คาดว่าวัคซีนโควิด-19 รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยานี้อาจมีบทบาทมากภายหลังพ้นการระบาดครั้งใหญ่ไปแล้ว การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยาที่จะกล่าวถึงมีดังนี้
สมุนไพรสำหรับเบาหวาน 3 วินาทีที่แล้ว | |
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 4 วินาทีที่แล้ว | |
การเดินเพื่อสุขภาพ 4 วินาทีที่แล้ว | |
ผักชีของไทย..ดังไกลถึงญี่ปุ่น..แล้วประโยชน์คืออะไร 5 วินาทีที่แล้ว | |
อันตรายของแสงสีฟ้าต่อสุขภาพดวงตา 5 วินาทีที่แล้ว | |
วัคซีนโควิด-19 ให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคเพียงใด? 5 วินาทีที่แล้ว | |
วัณโรคระยะแฝง 6 วินาทีที่แล้ว | |
กัญชากับการรักษาโรค 7 วินาทีที่แล้ว | |
ภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก (multisystem inflammatory syndrome in children; MIS-C) 8 วินาทีที่แล้ว | |
ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก… 10 วินาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome