Loading…

ภาควิชาเภสัชกรรมจัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ป่วยในประเทศไทยเกี่ยวกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ

359 ครั้ง   17 กุมภาพันธ์ 2567

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 - 16.00 น. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาเภสัชกรรม จัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ป่วยในประเทศไทยเกี่ยวกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.อุษา ฉายเกล็ดแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ฯ และ ประธานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (MUHTA) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ศิตาพร ยังคง ร่วมเป็นวิทยากร ณ ห้องประชุม 501 อาคารวิจัยประดิษฐ์ หุตางกูร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

โครงการฝึกอบรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด (Roche) โดยมีผู้ให้ความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการฝึกอบรมกว่า 30 คน ซึ่งจัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ป่วยและกลุ่มผู้ป่วยให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวในระบบสุขภาพของประเทศไทย ผ่านกิจกรรมการบรรยายและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจากวิทยากรทั้ง 3 ท่านในหัวข้อต่างๆ อาทิ แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ กระบวนการในการพิจารณาสิทธิประโยชน์และการส่งข้อความไปยังผู้กำหนดนโยบายในบทบาทของผู้ป่วย และ การประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือ Health Technology Assessment (HTA) คือ การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือผลวิจัย เพื่อการเลือกใช้เทคโนโลยีทางสุขภาพได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในระบบสุขภาพส่วนมากยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ได้ โครงการฝึกอบรมนี้จึงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยและเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวในระบบสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ กิจกรรมฝึกอบรมดังกล่าวยังตอบสนองพันธกิจของคณะฯ ในการเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 10 คือ ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (MUHTA) ของมหาวิทยาลัยมหิดล สามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/study-graduate-master.php

เหตุการณ์ล่าสุด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
เหตุการณ์สำคัญ กิจกรรมที่ผ่านมา

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล