Loading…

สโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์จัดกิจกรรม “เปิดบ้านเภสัชมหิดล (OPEN CAPSULE) ครั้งที่ 20”

388 ครั้ง   13 มกราคม 2567

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 08.00 – 16.30 น. สโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม “เปิดบ้านเภสัชมหิดล (OPEN CAPSULE) ครั้งที่ 20” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ณ ห้องประชุม 302 อาคารเทพรัตน์ โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 130 คน

กิจกรรม “เปิดบ้านเภสัชมหิดล (OPEN CAPSULE) ครั้งที่ 20” ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ปิยนุช โรจน์สง่า เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมจำลองบรรยากาศการเรียนในรายวิชาปฏิบัติการต่างๆ ของคณะฯ ได้แก่ ปฏิบัติการจุลชีววิทยา ปฏิบัติการเภสัชอุตสาหกรรม ปฏิบัติการเภสัชกรรมเทคโนโลยี ปฏิบัติการเภสัชเคมี ปฏิบัติการเภสัชพฤกษศาสตร์และเภสัชวินิจฉัย และปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ได้รู้จักกับหลักสูตรการศึกษา “เภสัชศาสตรบัณฑิต” ระดับปริญญาตรีของคณะฯ ตลอดจนได้สัมผัสกับบรรยากาศการเรียนและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของคณะฯ ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้และทักษะปฏิบัติการจากการผนวกหลากหลายสาขาวิชา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยเปิดมุมมองให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรในการดูแลสุขภาพของประชาชน และเผยแพร่บทบาทของวิชาชีพเภสัชกรรมในระบบสาธารณสุขให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมของนักศึกษาปัจจุบัน ระหว่างเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง และฝึกการวางแผนการจัดกิจกรรม ทั้งในส่วนของการปฏิบัติการและในส่วนกิจกรรมอื่นๆ ในงาน

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 10 คือ ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ

เหตุการณ์ล่าสุด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
เหตุการณ์สำคัญ กิจกรรมที่ผ่านมา

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล