Loading…

เภสัชมหิดลร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรมประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล

358 ครั้ง   12 ตุลาคม 2566

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สมหญิง พุ่มทอง เข้าร่วมประชุมใน “การประชุมทิศทางการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรมประเทศไทยยุคดิจิทัล” ซึ่งจัดโดย สภาเภสัชกรรม ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 11-12 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุม Sapphire อิมแพคเมืองทองธานี โดยในการประชุมนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี และมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.กรกช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข และผู้นำวิชาชีพเภสัชกรรมได้แก่ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กรรมการสภาเภสัชกรรม และตัวแทนเภสัชกรจากทุกสาขาทั่วประเทศไทยกว่า 250 เข้าร่วมประชุมในงานดังกล่าว 

การประชุมนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมสมองผู้นำวิชาชีพเภสัชกรรมในทุกวงการ เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรมไทยให้สอดรับกับนโยบายใหม่ 13 ประการของกระทรวงสาธารณสุข โดยนำความรู้ความสามารถของวิชาชีพเภสัชกรรมมาใช้ในการร่วมผลักดันนโยบายสำคัญของกระทรวงฯ เช่น นโยบายดิจิตัลเฮลท์ (digital health) การขยายการเข้าถึงยาและการรักษา/ป้องกันโรค โดยใช้เครือข่ายเภสัชกรรมทั้งในส่วนของสถานพยาบาลทั้งรัฐ เอกชน และร้านยาให้รวมกันเป็น seamless platform เพื่อทำประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน เป็นต้น 

ภายในการประชุมนี้ รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะกรรมการสภาเภสัชกรรม และประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) รับหน้าที่เป็นผู้นำการประชุมระดมสมองเพื่อการพัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตร์ของไทยเพื่อสร้างบัณฑิตเภสัชกรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ และรวมไปถึงการจัดการอบรมหลังปริญญาเพื่อสร้างทักษะขั้นสูงของเภสัชกรในการยกระดับการดูแลโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ และสนับสนุนให้การใช้ยาได้ประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอภาพรวมการพัฒนาระบบการดูแลการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่ง คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการอบรมเภสัชกรและผลิตงานวิจัยที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบดังกล่าวร่วมกับสมาคมวิชาชีพฯ และเภสัชกรโรงพยาบาล มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายคลินิกยาต้านการแข็งตัวของเลือดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชมกว่า 500 แห่งทั่วประเทศไทย 

สำหรับเป้าหมายต่อไปในอนาคต คือ การขยายเครือข่ายสู่ร้านยาเพื่อให้ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเข้าถึงการตรวจวัดระดับการแข็งตัวของเลือดได้ง่ายขึ้น เพื่อให้การใช้ยามีความปลอดภัยมากขึ้นต่อไป นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย และเป้าหมายที่ 17 คือ เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เหตุการณ์ล่าสุด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
เหตุการณ์สำคัญ กิจกรรมที่ผ่านมา

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล