ความเหมาะสมในการเลือกใช้ยาต้านจุลชีพ ในโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยเภสัชกรชุมชน

โดย: จุฑามาส กีรติภัทรกุล, สหพล เจนธนสาร    ปีการศึกษา: 2553    กลุ่มที่: 60

อาจารย์ที่ปรึกษา: ปรีชา มนทกานติกุล , ศรันย์ กอสนาน , เฉลิมศรี ภุมมางกูร , ภิรุญ มุสิกพันธ์    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: ความเหมาะสม, ยาต้านจุลชีพ, โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์, เภสัชกรชุมชน, appropriateness, antimicrobials, sexually transmitted diseases, community pharmacists
บทคัดย่อ:
โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน โรคแผลริมอ่อน โรคซิฟิลิส และโรคติดเชื้อ โปรโตซัวที่ช่องคลอด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในร้านยา การจ่ายยาต้านจุลชีพให้เหมาะสมกับโรคจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเภสัชกรชุมชนอย่างชัดเจน โครงการพิเศษนี้จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาความรู้ของเภสัชกรชุมชนต่อการจ่ายยาต้านจุลชีพรักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และปัจจัยที่มีผลต่อความรู้ของเภสัชกรชุมชน โดยใช้แบบสอบถามสำรวจข้อมูลจากเภสัชกรผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ผลการศึกษาพบว่า มีเภสัชกรตอบแบบสอบถามจำนวน 111 คน เป็นเพศชาย 53 คน (ร้อยละ 47.75) และเพศหญิง 58 คน (ร้อยละ 52.35) มีอายุระหว่าง 22 – 75 ปี เภสัชกรส่วนใหญ่เป็นเภสัชกรทำงานเต็มเวลาจำนวน 81 คน (ร้อยละ 72.97) โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เภสัชกรสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องมากกว่าร้อยละ 90 คือ โรคหนองในในเพศชาย โรคแผลริมอ่อน และโรคติดเชื้อโปรโตซัวที่ช่องคลอด ส่วนโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เภสัชกรเลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด คือ โรคติดเชื้อโปรโตซัวที่ช่องคลอด (ร้อยละ 55.77) นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการจ่ายยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมของเภสัชกรชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) ได้แก่ การรับรองคุณภาพร้านยา และสถานภาพการทำงานของเภสัชกร งานวิจัยนี้สรุปว่าเภสัชกรชุมชนจ่ายยาต้านจุลชีพสำหรับโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์บางชนิดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผลการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาความรู้ของเภสัชกรชุมชนเพื่อให้เกิดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต
abstract:
Sexually transmitted diseases (STDs) (i.e., gonorrhea, chancroid, syphilis, and trichomoniasis) are commonly found in community pharmacy. Therefore, dispensing appropriate antimicrobials in each disease is community pharmacists’ role and responsibility. The purposes of this research were to assess community pharmacists’ knowledge on their antimicrobial dispensing to treat STDs and to evaluate factors influencing their knowledge. Furthermore, this research was a survey using questionnaire which were answered by the pharmacists during the Community Pharmacy Association (Thailand) conference. The result showed that 111 pharmacists (53 males, 58 female) answered the questionnaire; most were in 22 – 75 years old. Of these, 81 pharmacists (72.97%) were fulltime pharmacists. Gonorrhea and non-gonococcal urethritis in male, chancroid, and trichomoniasis were the most correct diagnosis (>90.00%). The STDs which the most pharmacists could correctly choose treatment was trichomoniasis (55.80%). Furthermore, the factors, significantly affected the appropriate antimicrobial included practicing at accredited pharmacy and pharmacists’ working status (p-value<0.05). In conclusion, the community pharmacists could appropriately dispense antimicrobials in some STDs. This research may be utilized to guide the knowledge development of pharmacists for appropriate antimicrobial dispensing in the future.
.