ทักษะของเภสัชกรในการวิเคราะห์ใบสั่งยา

โดย: กมลกาญจน์ วจีนุรักษากุลชัย, ศิลป์ศุภา ลิ้มพงศานุรักษ์    ปีการศึกษา: 2554    กลุ่มที่: 49

อาจารย์ที่ปรึกษา: บุษบา จินดาวิจักษณ์ , สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล , ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: ทักษะ, การวิเคราะห์ใบสั่งยา, เภสัชกร, Prescription analysis, Skill, Pharmacist
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินทักษะการวิเคราะห์ใบสั่งยาของเภสัชกรโรงพยาบาล โดยใช้แบบประเมินที่เป็นใบสั่งยาจำลองเพื่อทำการประเมินทักษะการวิเคราะห์ใบสั่งยา 6 ด้าน คือ การประเมินการแพ้ยาซ้ำ การได้รับยาซ้ำซ้อน วิธีการใช้ยา ขนาดยาที่ใช้ จำนวนยาที่ได้รับ และการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ทำการสุ่มแจกแบบประเมินให้แก่เภสัชกรโรงพยาบาลที่มาเข้าร่วมประชุมวิชาการในระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2554 จำนวน 430 คน มีเภสัชกรตอบแบบประเมินจำนวน 200 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 78) มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี (ร้อยละ 81) มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 1 ปี (ร้อยละ 74.5) ผลการศึกษาพบว่าเภสัชกรสามารถประเมินถูก 6 ทักษะ (ร้อยละ 35), ถูก 5 ทักษะ (ร้อยละ 38), ถูก 4 ทักษะ (ร้อยละ 17), ถูก 3 ทักษะ (ร้อยละ 8.5), ถูก 2 ทักษะ (ร้อยละ 1.5), ถูก 1 ทักษะและไม่สามารถประเมินได้ (ร้อยละ 0) โดยมีทักษะด้านการประเมินเรื่องการแพ้ยาซ้ำมากที่สุด (ร้อยละ 82) รองลงมาเป็นทักษะการประเมินการได้รับยาซ้ำซ้อน (ร้อยละ 64), ขนาดยาที่ใช้ผิด (ร้อยละ 62.5), วิธีการใช้ยาผิด (ร้อยละ 60.8), จำนวนยาที่ได้รับผิด (ร้อยละ 47.3) และการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (ร้อยละ 37.8) นอกจากนี้ในแบบประเมินยังมีส่วนของข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่เภสัชกรเห็นว่ามีผลในการวิเคราะห์ใบสั่งยา ได้แก่ คำวินิจฉัยโรคของแพทย์ ระบบคอมพิวเตอร์เตือนการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา และคู่มือค้นคว้าเรื่องยา งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเภสัชกรโรงพยาบาลมีทักษะการวิเคราะห์ใบสั่งยาเรื่องการแพ้ยาซ้ำมากที่สุด ส่วนการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเป็นทักษะที่พบได้น้อยที่สุด ซึ่งผลการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ใบสั่งยาต่อไปในอนาคต
abstract:
The purposes of this study was to assess the hospital pharmacists’ skill in prescription analysis. A questionnaire consisted of scenario of prescriptions to evaluate prescription analysis’s skills was developed. The skills were classified into 6 domains which were drug allergy, drug with same action, dosage regimen, drug administration, total amount and drug interaction. The questionnaire was distributed by convenient sampling to 430 hospital pharmacists who participated in the conference between July and August 2011. Two hundred pharmacists answered the questionnaires whose 78% were female, 81% were less than 35 years old. Most of them had work experience more than 1 year (74.5%). The result showed that 35% had correctness in 6 skills, 38% had correctness in 5 skills, 17% had correctness in 4 skills, 8.5% had correctness in 3 skills, 1.5% had correctness in 2 skills, and none had correctness in 1 skill and incorrect. Drug allergy was the most detectable (82%) while drug with same reaction, dosage regimen, drug administration, total amount and drug interaction were found in 64%, 62.5%, 60.8%, 47.3% and 37.8%, respectively. In addition, the participants suggested that diagnosis, drug interactions pop-up systems in the computer and drug information databases might help them improve prescription analysis’s skills. In conclusion, hospital pharmacists had more skills in analysis prescriptions with drug allergy while drug interactions were rarely identified. This study may be utilized to guide the development of hospital pharmacists’ skills in prescription analysis.
.