ความถี่และลักษณะการแพ้ยาของผู้ป่วย โรงพยาบาลรามาธิบดี

โดย: ปภัสรา วรรณทอง, สิริวัฒนา เกิดกลาง    ปีการศึกษา: 2554    กลุ่มที่: 47

อาจารย์ที่ปรึกษา: ปราโมทย์ ตระกูลเพียรกิจ , พญ.ทิชา ลิ้มสุวรรณ    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม

Keyword: แพ้ยา, ลักษณะการแพ้ยา, โรงพยาบาลรามาธิบดี, Drug allergy, Characteristics of drug allergy, Ramathibodi Hospital
บทคัดย่อ:
วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ คือ ค้นหาความถี่ และลักษณะของการแพ้ยาที่เกิดในผู้ป่วยที่นอนใน โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 โดยผู้วิจัยทบทวนข้อมูลการแพ้ยาจากบันทึกการรับคำปรึกษาของแพทย์สาขาภูมิแพ้ ร่วมกับเวชระเบียนผู้ป่วย และบันทึกข้อมูลลงในแบบเก็บข้อมูลที่จัดทำขึ้น ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาเป็นร้อยละของจำนวนผู้ป่วยที่แพ้ยา แจกแจงลักษณะการแพ้ยาเป็นชนิดเฉียบพลัน (immediate) หากอาการแสดงเกิดภายใน 1 ชั่วโมงหลังได้รับยา และไม่เฉียบพลัน (non-immediate) หากอาการแสดงเกิดภายหลัง 1 ชั่วโมงหลังได้รับยา อาการแสดงของการแพ้ยา และยาที่เป็นสาเหตุของการแพ้ยา ผลการศึกษาได้ผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการศึกษา 108 คน โดยเป็นเพศหญิง 67 คน (ร้อยละ 62.0) มีอายุเฉลี่ย 53.5 ± 1.6 ปี มีเหตุการณ์ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นการแพ้ยาจำนวน 126 เหตุการณ์ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวแบ่งเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่ได้เกิดจากยา 24 เหตุการณ์ (ร้อยละ 19.0) อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา type A 7 เหตุการณ์ (ร้อยละ 5.6) และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา type B 95 เหตุการณ์ (ร้อยละ 75.4) โดยเป็นการแพ้ยาจริง จำนวน 87 เหตุการณ์ (ร้อยละ 69.1) แบ่งการแพ้ยาจริงได้เป็นชนิด immediate จำนวน 20 เหตุการณ์ (ร้อยละ 15.9) และชนิด non-immediate จำนวน 67 เหตุการณ์ (ร้อยละ 53.2) โดยอาการแสดงที่พบมากที่สุดของชนิด immediate และชนิด non-immediate คือ ผื่นลมพิษ จำนวน 10 เหตุการณ์ (ร้อยละ 50.0) และ maculopapular rash จำนวน 42 เหตุการณ์ (ร้อยละ 62.7) ตามลำดับ ยาสงสัยที่เป็นสาเหตุของการแพ้ยาทั้งหมด 145 ชนิด พบว่ายาต้านจุลชีพ (ร้อยละ 63.5), ยากันชัก (ร้อยละ 9.0) และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ร้อยละ 4.9) เป็นกลุ่มยา 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุดว่าเป็นสาเหตุของการแพ้ยา ข้อมูลข้างต้นสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อพัฒนาการวินิจฉัยและการจัดการดูแลผู้ป่วยที่แพ้ยาต่อไป
abstract:
The objective of this study was to determine the frequency and characteristics of hospitalized patients experiencing drug allergic reaction between August 2008 and February 2009 at Ramathibodi Hospital. The drug allergy consultation and medical charts were reviewed. Diagnosis of drug allergy was based on the opinion of consulting allergist with/or without drug allergy testing. Then drug allergy history information was recorded. Descriptive statistic was performed. Characteristics of drug allergy were categorized by type of drug allergy (immediate or non-immediate), manifestation and causative drug. Sixty-seven (62.0%) out of 108 patients who were recruited in the present study were female. Average age was 53.5 ± 1.6 years old. Total number of suspected drug allergy occurring was 126 events which then were classified into three types as following: 1) non-drug reaction 24 events (19.0%), 2) type A Adverse Drug Reaction (ADR) 7 events (5.6%) and 3) type B ADR 95 events (75.4%). Type B ADR consisted of true allergy by 87 events out of 126 events (69.1%) which were classified into immediate type 20 events (15.9%) and non-immediate type 67 events (53.2%). Common clinical manifestations of immediate type and non-immediate type were urticaria (10 events) and maculopapular rash (42 events), respectively. Antibacterial drugs (63.5%), anti-convulsants (9.0%) and NSAIDs (4.8%) were three most common causative agents of total 145 suspected drugs. The frequency and characteristics of drug allergy in the present study are useful for basic information of further development of drug allergy diagnosis and management.
.