การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเตอเรสและฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของตำรับยาอายุวัฒนะ |
โดย: นางสาวอรจิรา สุขเจริญเวช,นางสาวอโรชา เรืองสุริยกิจ ปีการศึกษา: 2560 กลุ่มที่: 41 อาจารย์ที่ปรึกษา: วรวรรณ กิจผาติ , จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล , นรรฆวี แสงกลับ ภาควิชา: ภาควิชาสรีรวิทยา Keyword: ตำรับยาอายุวัฒนะ, ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน, ฤทธิ์ต้านเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส, ปริมาณสารประกอบฟีนอลิทั้งหมด, Ayuwatana recipe, Antioxidant activity, Anticholinesterase activity, Total phenolic compound |
บทคัดย่อ: โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน และฤทธิ์ต้านเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรสของสารสกัดตำรับยาอายุวัฒนะด้วย 95% เอทานอลและน้ำ จำนวน 3 ตำรับ และทำการวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสารสกัด ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันโดยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดเอทานอลมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันดีกว่าสารสกัดน้ำ โดยสารสกัดเอทานอลของตำรับที่ 1 มีฤทธิ์ดีที่สุด ได้ค่า IC50 เท่ากับ 369.29 ± 21.52 µg/mL โดยค่า IC50 ของวิตามินซีซึ่งใช้เป็นสารมาตรฐานมีค่าเท่ากับ 12.54 ± 0.89 µg/mL ในขณะที่สารสกัดน้ำของทั้ง 3 ตำรับที่ความเข้มข้น 500 µg/mL ได้ค่า% inhibition ต่ำกว่า 50% เนื่องจากสารออกฤทธิ์เป็นสารที่มีขั้วน้อยและสามารถละลายได้ดีในสารสกัดเอทานอลมากกว่าสารสกัดน้ำ ส่วนผลการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันโดยวิธี FRAP และฤทธิ์ต้านเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส รวมทั้งการวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดในสารสกัดเอทานอลไม่สามารถรายงานผลได้ เนื่องจากไม่สามารถละลายได้ในวิธีทดสอบดังกล่าว สารสกัดน้ำของทุกตำรับมีค่า FRAP value และปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดที่มีค่าใกล้เคียงกัน ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าตำรับยาอายุวัฒนะโดยเฉพาะสารสกัดเอทานอลมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณสารประกอบฟีนอลิก แต่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรสต่ำ อย่างไรก็ตามควรทำการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม |
abstract: The purpose of this study was to determine antioxidant and anticholinesterase activities of 95% ethanolic extracts and aqueous extracts of three Ayuwatana recipes. Moreover, the extracts were analyzed for the total phenolic compound contents. In DPPH radical scavenging assay, the ethanolic extracts showed stronger activity than the aqueous extracts. The ethanolic extract of Ayuwatana recipe 1 showed the greatest antioxidant activity which IC50 value of 369.29 ± 21.52 µg/mL, while vitamin C (as a positive control) showed IC50 value of 12.54 ± 0.89 µg/mL. The aqueous extracts of all recipes at concentration of 500 µg/mL showed less than 50% inhibition. The active compounds might be less polar and expressed in ethanolic extracts than aqueous extracts. Unfortunately, all ethanolic extracts could not be analyzed for antioxidant using FRAP method, anticholinesterase activities and total phenolic compound contents because of their solubilities. The aqueous extracts of all recipes also demonstrated antioxidant activity using FRAP assay and showed the total phenolic compound contents at the same range. The results from this study revealed that Ayuwatana recipes, especially ethanolic extracts, demonstrated the antioxidant activity which related to the content of total phenolic compounds. However, the extracts had low anticholinesterase activity. Further investigation for antioxidant activity by other methods were recommended. |
. |