การเตรียมแคลเซียมอินทรีย์จากเปลือกไข่ เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร |
โดย: ชัชวัสส์ ปานต้น, ชุติมา สุขสำราญ ปีการศึกษา: 2553 กลุ่มที่: 41 อาจารย์ที่ปรึกษา: พจวรรณ ลาวัลย์ประเสริฐ ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม Keyword: แคลเซียม, เปลือกไข่, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, ยาเม็ดฟู่, Calcium, Eggshell, Dietary supplement, Effervescent tablet |
บทคัดย่อ: โครงการพิเศษนี้เป็นการศึกษาการเตรียมแคลเซียมอินทรีย์จากเปลือกไข่ไก่ เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับการป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ และภาวะการขาดแคลเซียมในกรณีอื่นๆ โดยทำการเตรียมในรูปแบบของยาเม็ดฟู่ เพื่อให้ได้เกลือของแคลเซียมที่ละลายน้ำและสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี เริ่มจากการนำเปลือกไข่ไก่ที่เหลือทิ้งจากร้านอาหารมาล้างทำความสะอาด แล้วนำมาต้มในสารละลายที่มีโซเดียมไบคาร์บอเนต ร้อยละ 10 จากนั้นนำไปอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส แล้วนำไปบดให้เป็นผงละเอียดด้วยเครื่องบอลมิลล์ การวิเคราะห์ปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตโดยวิธีการไตเตรท พบว่ามีปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตอยู่ร้อยละ 96.2±0.71 โดยน้ำหนัก จากการทดลองนำผงเปลือกไข่ไปเตรียมเป็นแกรนูล พบว่าการใช้สตาร์ช 1500 เป็นสารยึดเกาะจะทำให้ได้แกรนูลเปลือกไข่ที่มีลักษณะที่ดี และในการพัฒนาตำรับยาเม็ดฟู่ พบว่า อัตราส่วนของผงเปลือกไข่ : กรดซิตริค : กรดทาร์ทาริค ที่เหมาะสมในการเตรียมยาเม็ดฟู่ คือ 1 : 3 : 1 โดยน้ำหนัก เมื่อทำการตอกยาเม็ดพบปัญหา คือ การติดหน้าสาก และแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการเพิ่มสารช่วยในตำรับ พบว่าการใช้ แมกนีเซียมสเตียเรต ร้อยละ 0.5 ใช้เวลาผสม 5 นาที, อะวิเซล พีเอช 102 ร้อยละ 20 และเอ็กซ์โปลแท็บ ร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก ช่วยลดการติดหน้าสากได้มากที่สุด และเมื่อนำยาเม็ดฟู่ไปทำการวิเคราะห์ปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนต โดยวิธีการไตเตรท พบว่าได้ค่าน้อยกว่าค่าที่ควรได้ตามทฤษฎี ทั้งนี้อาจเกิดจากการรบกวนการวิเคราะห์ของสารช่วยในตำรับ ดังนั้นจึงควรใช้วิธีอื่นที่มีความจำเพาะต่อการวิเคราะห์ปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตในตำรับยาเม็ดฟู่มากกว่าร่วมด้วยเช่น การใช้เครื่องแคปิลารี อิเล็คโตรโฟเรซิส และการใช้เครื่องอะตอมิก แอ็บซอพชั่น |
abstract: In this study, organic calcium for dietary supplement was prepared from hen eggshell. This can be used in osteoporosis prevention in elderly people and in other calcium deficiency cases. The eggshell powder was formulated into effervescent tablet dosage form in order to produce water soluble calcium which will be readily absorbed in the GI tract. The eggshell waste which was collected from the restaurant was washed by using tap water and then bolied in 10% sodium bicarbonate solution. The wet eggshell was dried in hot air oven at 180oC before grinding in ball mill. Calcium carbonate content of eggshell powder was analyzed by using titration method. It was found that calcium carbonate content of eggshell powder was 96.2±0.71% by weight. The granule of eggshell powder was prepared. Starch 1500 was selected to be used as a binder in the granule formulation. For effervescent tablet formulation, the ratio of eggshell : citric acid : tartaric acid of 1 : 3 : 1 by weight was found to be appropriate. The problem occurred during tabletting process was sticking problem which can be rendered by an addition of some excipients. Incorporating of 0.5% magnesium stearate with 5 minute mixing time, 20% Avicel pH102 and 4% Explotab resulted in the maximum decrease in the severity of the sticking problem. Calcium carbonate content of the effervescent tablet was analyzed by using titration method. It was found that the calcium carbonate content of the effervescent tablet was lower than the theoretical value. This might be due to the interference from the excipients used in the formulation. Thus more specific analytical methods such as capillary electrophoresis (CE) or atomic absorption spectroscopy (AA) should be used for eggshell effervescent tablet. |
. |