การสำรวจความชุก ผลกระทบ และการดูแลรักษาปัญหาจากสิวในนักศึกษาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล |
โดย: กันต์กมล กิจตรงศิริ, ณัฐนันท์ งานเลิศ ปีการศึกษา: 2548 กลุ่มที่: 30 อาจารย์ที่ปรึกษา: มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชกรรม Keyword: สิว, ความชุก, ผลกระทบ, การรักษา, acne, prevalence, impact, treatment |
บทคัดย่อ: โครงการพิเศษนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจที่ได้ทำขึ้นเพื่อสำรวจความชุก ผลกระทบ และการดูแลรักษาปัญหาจากสิวของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยทำการเก็บข้อมูลจากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 7แห่ง จากแบบสอบถาม 1,285 ฉบับ ได้รับการตอบกลับ 1,116 ฉบับ คิดเป็นอัตราการตอบกลับร้อยละ 86.85 โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง 748 คน (ร้อยละ 67.00) และเพศชาย 368 คน (ร้อยละ 33.00) อายุเฉลี่ย 19.70 ปี (S.D. = 1.46) จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 64.70 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาสิวเป็นปัญหาสำหรับตนเอง โดยในผู้ที่ระบุว่าสิวเป็นปัญหานั้น ร้อยละ 25.3, 47.7 และ 29.00 ระบุว่า สิวเป็นปัญหาสำหรับตนเองในระดับน้อย, ปานกลาง และมาก ตามลำดับ ในส่วนของผลกระทบจากการเป็นสิว พบว่ามีเพียงร้อยละ 16.10 ระบุว่า สิวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆต่อตน ทั้งนี้พบว่า ร้อยละ 72.20, 37.00 และ 9.30 ระบุว่า ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ตามลำดับ สำหรับการรักษาสิวนั้น ร้อยละ 23.90 ระบุว่าในปัจจุบันตนเองยังรักษาสิวอยู่ โดยพบว่าวิธีในการรักษาสิวมีทั้งแบบที่ไม่ใช้ยา (ร้อยละ 68.50) และแบบที่ใช้ยาใช้ยา (ร้อยละ 75.90) ในกลุ่มที่รักษาสิวโดยการใช้ยานั้นพบว่า ร้อยละ 96.42 ระบุว่าใช้ยาทา ในขณะที่ร้อยละ 54.36 ระบุว่าใช้ยารับประทาน อย่างไรก็ตามพบว่าร้อยละ 77.26 และ 56.79 ของผู้ที่ใช้ยา ระบุว่าไม่ทราบชื่อยาทา และยารับประทานที่ตนเองใช้ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 32.50 ของผู้ที่ใช้ยารักษาสิวได้รับอาการข้างเคียงจากการใช้ยารักษาสิว สำหรับข้อมูลด้านการปรึกษาปัญหาเรื่องสิว พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 44.70) ระบุว่าเลือกรับคำปรึกษาจากแพทย์ โดยมีเพียงร้อยละ 7.00 ที่ระบุว่าเลือกรับคำปรึกษาจากเภสัชกร จากการศึกษาในครั้งนี้เภสัชกรควรมีส่วนร่วมในการดูแลปัญหาจากสิวในวัยรุ่นให้มากขึ้น ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยารักษาสิวอย่างถูกวิธีและเหมาะสม นอกจากนี้ยังควรมีการรณรงค์ให้มีการสอบถามชื่อยารักษาสิวที่ได้รับ รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ยารักษาสิวนั้นๆ รวมถึงแนวทางการป้องกันแก้ไขเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาขึ้น |
abstract: This special project was a survey research, which aimed to examine prevalence, impact and treatment of acne among undergraduate students in Bangkok and its vicinity. Data were collected from 7 universities. Of 1,285 questionnaires sent out 1,116 were returned resulting in the response rate of 86.85%. The sample comprised of 748 (67%) female and 368 (33%) male. The average age was 19.70 years (S.D. = 1.46). The data showed that acne was the problem in the past one month in 64.70% of the sample. For these students, the magnitude of their problems was mild(25.3%), moderate(47.7%) and severe(29.0%). These students also reported that acne led to psychological impacts (72.20%), health impacts(37.0%) and economical impacts(9.30%). 23.90% of the sample indicated that they were currently treating their acne. It was found that 68.50% of the sample indicated using non-drug therapy while 79.90% indicated using drug therapy. Of those treated with drug therapy, 96.42% had used topical agents and only 54.36% had used systemic agents. However, about 77.26% and 56.79% of those who had used topical and systemic agents respectively, could not recognize the name of drug that they were using. For drug related problems, 32.50% of those treated with drug therapy experienced adverse drug reaction. In term of help-seeking behavior, 44.70% had consulted a doctor and only 7% had consulted a pharmacist. It is recommended that pharmacist should take more action in managing acne problem in adolescent by recommending an appropriate treatment and counseling patients with adequate information. Moreover, we should promote patients to ask for the name and information of drug received and an advice on prevention and management of drug adverse effects. |
. |