การศึกษาทางพฤกษเคมีของส่วนดอกเห็ดและสปอร์ของเห็ดหลินจือที่ปลูกในประเทศไทย

โดย: น.ส.เทพรัตน์ ภิญโญรัตนโยธี, น.ส.ทิพย์สุดา ดุลยภาภรณ์    ปีการศึกษา: 2551    กลุ่มที่: 24

อาจารย์ที่ปรึกษา:    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย

Keyword: เห็ดหลินจือ, พฤกษเคมี, รงคเลขผิวบาง, จุลทรรศนลักษณะ, Lingzhi, Ganoderma lucidum, Thin layer chromatography, microscopic character
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาทางพฤกษเคมีของส่วนดอกเห็ดและสปอร์ของเห็ดหลินจือ ที่ปลูกในประเทศไทย โดยการพิสูจน์เอกลักษณ์ทางจุลทรรศนลักษณะของเห็ดหลินจือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพของสาร triterpenoids และ polysaccharides โดยใช้วิธีรงคเลขผิวบาง (TLC) และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (total carbohydrate และ total uronic acid) ในส่วนดอกเห็ดและสปอร์ที่ปลูกในประเทศไทย (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงายในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดเชียงใหม่) เปรียบเทียบกับเห็ดหลินจือจากประเทศจีน (คุนหมิง และ ปักกิ่ง) ผลการศึกษาพบว่าจุลทรรศนลักษณะของสปอร์ มีรูปร่างกลมรี ผิวขรุขระ ขนาด 4.5-5.9 x 7.8-9.2 ไมโครเมตร ผนังหนา 2 ชั้น ส่วนดอกเห็ดประกอบด้วยเส้นใยซึ่งยังมีสปอร์อยู่ ผล TLC fingerprint ของสารสกัดเอทานอลของส่วนดอกเห็ดและสปอร์ที่กะเทาะเปลือกมีความแตกต่างกันของแถบสาร ส่วนสปอร์ที่ไม่ได้กะเทาะเปลือกจะไม่พบแถบสาร ผล TLC fingerprint ของสารสกัดเอทานอลของส่วนดอกเห็ดที่ปลูกในประเทศไทย มีแถบสารที่คล้ายคลึงกับที่ปลูกในประเทศจีน และการศึกษาในส่วนของสารสกัดด้วยน้ำ พบว่าเห็ดหลินจือที่ได้จากทั้งสองประเทศประกอบด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหลัก คือ กลูโคส และการตรวจสอบหาปริมาณ total carbohydrate ในสารสกัดด้วยน้ำ พบว่าสปอร์จากเมืองงายมีปริมาณไม่แตกต่างกับประเทศจีน แต่จากห้วยฮ่องไคร้พบว่ามีปริมาณสารน้อยกว่า นอกจากนี้ปริมาณ total uronic acid ของดอกเห็ดและสปอร์เห็ดหลินจือจากห้วยฮ่องไคร้และเมืองงายมีปริมาณ เท่ากับ 2.88%, 4.09% และ 5.25%, 2.63% ตามลำดับ
abstract:
The aim of this project is to study phytochemistry of fruity bodies and spores of Lingzhi (Ganoderma lucidum ) cultivated in Thailand. The study comprised of microscopic character, qualitative analysis of triterpenoids and polysaccharides by thin layer chromatography, and quantitative analysis (determination of total carbohydrate and total uronic acid) of Thai Lingzhi [cultivated in Huai Hong Khrai Royal Development Study Center (HLZ) and Muang Ngai Special Agricultural Project under the Patronage of Her Majesty Queen Sirikit (MLZ)] and Chinese Lingzhi from Yunnan (YLZ) and Beijing (BLZ). Microscopic character of spores showed that spores are elliptical shape and warty surfaces, size 4.5-5.9 x 7.8-9.2 μm. The fruity body composed of mycelium which contained spores. The TLC fingerprints of ethanolic extractive of fruity body and broken spores are different. There is no TLC band observed from ethanolic extractive of nonbroken spores. It is found that TLC fingerprints of fruity body of Thai Lingzhi are similar to Chinese Lingzhi. The water extractives of both Thai and Chinese Lingzhi consist of polysaccharides which glucose is a major component. The amount of total carbohydrate of fruiting body water extractive of MLZ and Chinese Lingzhi are not different, but HLZ gave less amount. The total uronic acid contents of Thai Lingzhi, HLZ fruiting body, HLZ spore, MLZ fruiting body, and MLZ spore are 2.88%, 4.09%, and 5.25%, 2.63%, respectively.
.