การศึกษาแนวคิดการตั้งตำรับยาในคัมภีร์ธาตุวิวรณ์

โดย: ธนิศา ปรมัตถ์สกุล, สโนชา วงศ์ทางประเสริฐ    ปีการศึกษา: 2553    กลุ่มที่: 23

อาจารย์ที่ปรึกษา: อ้อมบุญ วัลลิสุต , สาธิต พุทธิพิพัฒน์ขจร , สุรพรรณ ศิริธรรมวานิช    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย

Keyword: แนวคิดการตั้งตำรับยา, การแพทย์แผนไทย, คัมภีร์ธาตุวิวรณ์,รักษาอาการเจ็บป่วยในฤดูหก, Concept of Herbal Formulation, Thai Traditional Medicine, Dhatu-wi-worn Pharmacopoeia,Six Seasons theory
บทคัดย่อ:
คัมภีร์ธาตุวิวรณ์เป็นส่วนหนึ่งของตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ซึ่งเป็นตำราสำคัญของการแพทย์แผนไทย คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ว่าด้วยการอธิบายสาเหตุที่ธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ไม่ปกติ รวมถึงตำรับยาที่ใช้ในการแก้ไข และการรักษาธาตุทั้ง 4 ให้เป็นปกติ โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดการตั้งตำรับยาในคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ โดยศึกษาทฤษฎีการเกิดโรคตามแนวคิดการแพทย์แผนไทย และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบสมุนไพร ทฤษฎีการแพทย์แผนไทย รวมถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ตำรับยาที่เลือกมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาคือตำรับยาที่ระบุว่าใช้รักษาอาการเจ็บป่วยในฤดูหก ฤดูหกในคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ เป็นฤดูที่แบ่งให้ละเอียดจากฤดูสามในประเทศไทย คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยแบ่งออกเป็นฤดูละ 2 เดือน ได้แก่ เดือนที่มีอากาศร้อน 2 ฤดู เดือนที่มีฝน 2 ฤดู และเดือนที่มีอากาศหนาวเย็น 2 ฤดู รวมทั้งสิ้นหกฤดู เพื่อให้ตั้งตำรับยาได้ละเอียดยิ่งขึ้น จากการศึกษาพบว่า การตั้งตำรับยารักษาอาการเจ็บป่วยตามแนวคิดการแพทย์แผนไทย ใช้หลักการปรับสมดุลของธาตุที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ ในแต่ละตำรับจะประกอบด้วยตัวยารสหลักและยารสอื่นๆ ที่ช่วยปรับสมดุลของธาตุ เมื่อเปรียบเทียบส่วนประกอบของตำรับยาพบว่า ตำรับยาที่ใช้ในฤดูที่มีอากาศร้อนจะมีรสขมเย็น ตำรับยาที่ใช้ในฤดูที่มีฝนจะมีรสเผ็ดร้อน และตำรับยาที่ใช้ในฤดูที่มีอากาศหนาวเย็นจะมีรสสุขุม การตั้งตำรับยาสำหรับอาการเจ็บป่วยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละฤดู เนื่องจากอิทธิพลของฤดูที่อยู่ข้างเคียงมีผลต่อธาตุในร่างกาย ทำให้อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นต่างกันแม้สภาพอากาศคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของสมุนไพรในตำรับเหล่านี้ยังสอดคล้องกับสรรพคุณของตำรับยา สรุปได้ว่าการรักษาโรคตามแนวคิดการแพทย์แผนไทยนั้นจำเป็นต้องใช้ยาเป็นตำรับ เพื่อผลของการรักษาแบบองค์รวม
abstract:
Dhatu-wi-worn Pharmacopoeia is a chapter in the official Thai Traditional Medicine(TTM) textbook, Patayasart Songkrau. It describes the various causes of unwellness and the use of Thai traditional formularies to maintain balance among the four body elements; earth, water, wind, and fire. The objective of this special project was to study the concept of herbal formulations in Dhatu-wi-worn Pharmacopoeia based on TTM theories. The relationship between herbal characteristics, ingredient compositions, and appropriate scientific data were analysed. The formularies that was chosen for further study were those recommended for ailments in connection with Six Seasons (6 Ritus) theory. The Six Seasons theory was derived from the Three Seasons theory i.e. summer, rainy, and winter. There are two months for each season comprising two hot seasons, two rainy seasons, and two cold seasons; these criteria provide better determination of herbal formulations. From the study, we found that the main aim of TTM formularies was to correct the balance of elements which were affected by the changing weather. Each formulary contains main herbals and many others using cool herbs in hot weather, spicy herbs in rainy season and neutral herbs in cold weather. There are differences in all type of formulations due to different effects from the adjacent months. The scientific data also support the use of herbal ingredients. It can be concluded that, according to TTM concepts, it is unavoidable to use herbal formularies for the sake of holistic treatment.
.