การศึกษาคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีของสารเมือกจากใบสบู่ดำ

โดย: นวพร ทรัพย์ถนอม, พีรดา โพพาทอง    ปีการศึกษา: 2554    กลุ่มที่: 20

อาจารย์ที่ปรึกษา: วีณา จิรัจฉริยากูล , วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย

Keyword: สบู่ดำ, สารเมือก, Jatropha curcas L., ดัชนีการพองตัว, ความหนืด, Thin-layer chromatography, Physic nut, mucilage, Jatropha curcas L., swelling index, viscosity, thin-layer chromatography
บทคัดย่อ:
สบู่ดำจัดเป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas L. น้ำมันที่บีบจากเมล็ดสบู่ดำนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล สารเมือกจากใบสบู่ดำมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ(disinfectant)และยับยั้งการเจริญของลาวายุง การควบคุมคุณภาพสมุนไพรที่มีสารเมือกทางเคมี โดยการวิเคราะห์ปริมาณสารเมือกกระทำได้ยาก เพราะสารเมือกเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่มีโครงสร้างซับซ้อน ในทางเภสัชวินิจฉัยการควบคุมคุณภาพสมุนไพรที่มีสารเมือกสามารถกระทำได้โดยการประเมินคุณภาพด้วยวิธีทางฟิสิกส์-เคมี, thin-layer chromatography และลักษณะภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของสารเมือกจากใบสบู่ดำ โดยนำใบสดจากต้นสบู่ดำมาอบที่ 50-60 องศาเซลเซียส บดเป็นผงแห้ง ลักษณะเซลล์สารเมือกของสบู่ดำภายใต้กล้องจุลทรรศน์ พบสารเมือกติดสีม่วงแดงกระจายที่ผนังเซลล์เมื่อย้อมด้วย chlorzinc iodine solution วัดค่าความเป็นกรด-ด่างของสารสกัดน้ำใบสบู่ดำ ได้ค่า pH 7.58 ซึ่งเป็นด่างอ่อน ดัชนีการพองตัว (Swelling index) มีค่าเท่ากับ 9.0 เปรียบเทียบกับสมุนไพรอ้างอิง ได้แก่ เทียนเกล็ดหอย, เมล็ดแมงลัก , agar มีค่าดัชนีพองตัว 10.9 , 45.3 และ 10 ตามลำดับ วัดความหนืด(absolute viscosity)ของสารสกัดน้ำใบสบู่ดำ เปรียบเทียบกับน้ำกลั่นที่ 25 องศาเซลเซียส โดยใช้เครื่อง Ostwald viscometer ได้ค่าความหนืดเท่ากับ1.089 centipoise ซึ่งมีความหนืดมากกว่าน้ำ(0.997) เงื่อนไข Thin- layer chromatography ของสารเมือกในใบสบู่ดำประกอบด้วย วัฏภาคคงที่คือ silica gel (60) วัฏภาคเคลื่อนที่คือ water : acetonitrile (15:85) และตรวจสอบด้วยน้ำยาพ่นไทมอล ผลการศึกษาจากโครงการพิเศษนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินคุณภาพสารเมือกจากใบสบู่ดำ
abstract:
Jatropha curcas belongs to the family Euphorbiacea. The scientific name is Jatropha curcas L.. The seed oil is used for biodiesel. The leaf mucilage had disinfectant property and inhibited the growth of mosquito larva. The quality control by the determination of the mucilage content is very difficult because the mucilage is complex carbohydrate. In pharmacognosy, the quality of crude drugs containing mucilage can be evaluated by physical, chemical methods, thin-layer chromatogram and mucilage cells under microscope. This study aimed at the quality evaluation of the leaf mucilage. Fresh leaves were dried at 50-60◦C and ground. The mucilage cells were observed under microscope. They were scatterly stained violet-red with chorzinc iodine mountant. The water extract of the leaf had pH value of 7.58. The leaf had the swelling index of 9.0, whereas psyllium seeds, hoary basil seeds and agar 10.9, 45.3 and 10, respectively. The absolute viscosity of the leaf water extract were determined by oswald viscometer equaled to 1.089 centipoise. The thin-layer chromatogram of the leaf extract was also performed using silica gel as a stationary phase and acetonitrile : water (85: 15) as a mobile phase. The plate was detected with thymol spray reagent. The mucilage from J. curcas appeared as blue band on the plate with Rf value 0.27 which was identical to pectin.
.