พฤติกรรมและปัญหาในการรักษาด้วยยาของพระภิกษุที่อาพาธด้วยโรคเบาหวานที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์

โดย: จรูญศักดิ์ ห่อสุวรรณ์, ศิริพร พิมพ์สิริพานิชย์    ปีการศึกษา: 2547    กลุ่มที่: 12

อาจารย์ที่ปรึกษา: วิชิต เปานิล , ธนุชา บุญจรัส    ภาควิชา: ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์

Keyword: พฤติกรรมในการปฏิบัติตน, ปัญหา อุปสรรคที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของพระภิกษุ, health behavior, problem of diabetic monks
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมโดยรวมในการปฏิบัติตน และปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของพระภิกษุที่อาพาธด้วยโรคเบาหวาน โดยใช้แบบสอบถาม เก็บรวบรวมข้อมูลจากพระภิกษุที่มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ จํานวน 122 รูป ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายนผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากมีอายุอยู่ในช่วง 60 - 69 ปี (33.6 %) อุปสมบทมามากกว่า 10 พรรษา (62.3%) สําเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา (58.2%) และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานมา6-10 ปี (35.2%) ผลการศึกษาพบว่า พระภิกษุเหล่านี้ส่วนใหญ่ตอบว่ามีความกังวลเพียงเล็กน้อยเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน และไม่ได้ต้องการผู้ อุปัฏฐากดูแลเป็นพิเศษมากนัก เห็นว่าตนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานอยู่ในระดับปานกลาง ในด้านพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ส่วนมากสามารถปฏิบัติตามคําแนะนําของแพทย์ได้ ส่วนของการใช้ยาพบว่าไม่เป็นปัญหามากนัก ในด้านความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานอยู่ในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย 6.73 คะแนน จาก 11คะแนน) และเห็นว่าการหลีกเลี่ยงการฉันอาหารไขมัน และของหวานเป็นปัญหาในการปฏิบัติตนมาก เนื่องจากต้องฉันอาหารที่ได้จากบิณฑบาตร ท่านไม่รู้สึกลําบากใจเมื่อผู้ให้การดูแลรักษาเป็นผู้หญิง (91%) และไม่ได้ต้องการบริการที่แตกต่างจากคนทั่วไป (53.3%) เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม โดยใช้ Chi-square test พบว่า พระที่มีอายุน้อยจะมีความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานมากกว่าพระที่มีอายุมาก (p=0.04) พระที่มีระดับการศึกษาสูงจะมีความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานมากกว่าพระที่มีระดับการศึกษาต่ํา (p=0.02) นอกจากนี้ยังพบว่าพระที่พรรษาอุปสมบทน้อยมีแนวโน้มใช้สมุนไพรน้อยกว่าพระที่อุปสมบทมานานด้วย (p=0.03)โดยสรุปพระภิกษุที่ศึกษาครั้งนี้มีความรู้เกี่ยวกับโรค และการปฏิบัติตัวไม่ดีโดยเฉพาะท่านที่สูงอายุและมีการศึกษาน้อย ปัญหาสําคัญคือการไม่สามารถเลือกอาหารที่เหมาะสมในการฉันได้ เภสัชกรควรสนใจให้คําแนะนําในการใช้ยาและการฉันอาหารในพระภิกษุกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
abstract:
The objective of this study was to determine health behavior and drug use problems of diabetic monks. Questionnaires were distributed to diabetic monks who were treated as out patients at Monk’s Hospital during August and September 2004. One hundred and twenty two questionnaires were completed and analyzed.Most of the respondents were 60-69 years old (33.6%) and became monkhoods for more than 10 years (62.3%). About half of them (58.2%) got primary school certificates. Thirty five percent of the respondents were firstly diagnosed as diabetics between 6-10 years ago.They were a little worry when knowing that they were diabetic patients and did not need any special care from others. They perceived that their knowledge about diabetes mellitus (DM)was not so bad and they mostly could follow the medical recommendations. Their knowledge scores in DM depended on their educational level (p=.02), The average knowledge was 6.73 from 11. It was quite difficult for them to take the recommended diet because it depended upon the food givers. Ninety one percent of them did not feel reluctant when they had physical examinations by female doctors or nurses. This study found that the younger diabetic monks had higher knowledge in DM (p=.04) while they used herbal medicine for DM less than the older monks (p=.03). Pharmacist should offer drug and diet counseling for the diabetic monks especially for the old and uneducated ones.
.