การประเมินความไวของเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซาที่แยกได้จากผู้ป่วยต่อยาพีเพอราซิลินและทาโซแบคแตม

โดย: นางสาวกาญจนาลักษณ์ นารีนุช,นางสาวณันท์นภัส หมื่นสิทธิแพร่    ปีการศึกษา: 2555    กลุ่มที่: 1

อาจารย์ที่ปรึกษา: มัลลิกา ชมนาวัง , ปรีชา มนทกานติกุล    ภาควิชา: ภาควิชาจุลชีววิทยา

Keyword: ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา, พีเพอราซิลิน, ทาโซแบคแตม, Pseudomonas aeruginosa, piperacillin, tazobactam
บทคัดย่อ:
โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความไวของซูโดโมแนส แอรูจิโนซาที่มีการดื้อยาหลายขนานซึ่งแยกได้จากผู้ป่วยต่อพีเพอราซิลินเดี่ยวและพีเพอราซิลินร่วมกับทาโซแบคแตมเนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันยาพีเพอราซิลินเป็นยาที่มีอัตราการดื้อยาของซูโดโมแนส แอรูจิโนซาในประเทศไทยต่ำกว่ายาต้านซูโดโมแนสตัวอื่นๆ ทำให้ยังสามารถนำยาพีเพอราซิลินมาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากซูโดโมแนส แอรูจิโนซาได้ผลดี ทั้งยาพีเพอราซิลินยังมีผลข้างเคียงรุนแรงน้อยกว่ายาต้านซูโดโมแนสตัวอื่นๆด้วย ซึ่งแบคทีเรียที่ใช้ในการทดลองเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาหลายขนานโดยคัดเลือกมาจากโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยจำนวน 9 แห่ง รวมทั้งหมด 111 สายพันธุ์ ซึ่งการทดลองนี้ใช้วิธีบรอท ไดลูชั่น และประเมินค่าความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) ตามเกณฑ์ของ CLSI 2012 ผลการศึกษาพบว่า อัตราการดื้อยาพีเพอราซิลินและพีเพอราซิลินร่วมกับทาโซแบคแตมในภาพรวมทั้งประเทศ มีอัตราการดื้อยาร้อยละ 83.78 และ 74.77 ตามลำดับ หากพิจารณาความแตกต่างของอัตราการดื้อยาในแต่ละภูมิภาคแล้ว ได้ผลเป็นดังนี้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 81.8, 70.6, 96.8, 69.2, และ 88.2 ตามลำดับสำหรับพีเพอราซิลินเดี่ยวๆ และ 75.6, 52.9, 96.8, 53.9 , และ 70.6 ตามลำดับสำหรับพีเพอราซิลินร่วมกับทาโซแบคแตม จะเห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการดื้อยามากที่สุดต่อยาทั้งสองขนาน ทั้งนี้ผลจากการศึกษานี้จะเป็นแนวทางในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ต่อไป
abstract:
The purpose of this study is to evaluate the susceptibility of piperacillin and piperacillin with tazobactam against multidrug-resistant Pseudomonas aeruginosa (MDR-PA) clinical isolates. Piperacillin has been shown to have lower resistance rate than other antipseudomonal drugs and is also safe. This study selected 111 MDR-PA clinical isolates from nine hospitals in five regions of Thailand. Susceptibility test were performed using broth dilution method and determined the minimum inhibitory concentration (MIC) according to the Clinical and Laboratory Standards Institute Guideline 2012. The results showed that the rate of piperacillin-resistant MDR-PA was 83.78%. Piperacillin with tazobactam-resistant MDR-PA was 74.77%. When considering the resistance pattern according to the geographic region, in the central, northern, northeastern, eastern, and southern regions, the resistance rates of piperacillin were 81.8%, 70.6%, 96.8%, 69.2%, and 88.2%, respectively. Additionally, the resistance rates of piperacillin with tazobactam were 75.6%, 52.9%, 96.8%, 53.9 %, and 70.6%, respectively. The statistical analysis indicated that the northeastern region showed the highest resistance rate to two drugs. In conclusion, the data from the study can be useful for further appropriate antibiotic selections in PA infections in Thailand.
.